วันนี้(วันที่ 25 กันยายน 2566) จะเป็นวันแรกที่รัฐบาลได้ยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (วีซ่าฟรี)ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และนักท่องเที่ยวคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นกรณีพิเศษ และเป็นการชั่วคราว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว
ล่าสุดวันนี้เวลา 10.15 น.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และคณะผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ
อาทิ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือททท. ได้เดินทางมายังสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและมอบของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาโดยสายการบิน Thai Air Asia X (ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์) เที่ยวบิน XJ 761 เส้นทางเซี่ยงไฮ้-สุวรรณภูมิ ณ บริเวณประตูเทียบเครื่องบิน D4
ทั้งนี้เที่ยวบินที่ XJ761 วันที่ 25 กันยายน 2565 มีจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 341 คน โดยเป็นผู้โดยสารชาวจีน 306 คน คิดเป็น 90 % และชาวต่างชาติสัญชาติอื่น 35 คน คิดเป็น 10 % โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเอง หรือ FIT 80 % และ 20%
อย่างไรก็ตามมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (VISA Exemption)คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 โดยรัฐบาลได้ยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารเดินทางจีนและคาซัคสถาน ให้สามารถเข้ามาและพำนักในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567
โดยจะยกเว้นเป็นเวลา 5 เดือน เป็นกรณีพิเศษ และเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและความเชื่อมโยงระดับประชาชน รวมทั้งมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐคาซัคสถาน
มาตรการดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวคาซัคสถานที่จะเดินทางมาไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2566 ซึ่งจะสามารถเดินทางมาไทยได้โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา (ไม่ต้องขอวีซ่าจึงไม่มีค่าธรรมเนียม) และเป็นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอันเป็นปัจจัยสำคัญ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมตามนโยบายรัฐบาล
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า นักท่องเที่ยวตลาดจีนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของประเทศไทย โดยยังมีการฟื้นตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 และเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงทั้งด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้เชื่อมั่นว่ามาตรการยกเว้นการตรวจลงตราจะเป็นแรงส่งช่วยพลิกฟื้นการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 5 เดือนที่มีการยกเว้นการตรวจลงตราจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนประมาณ 1,912,000 – 2,888,500 คน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 41 - 62 สร้างรายได้เข้าประเทศ 92,583 – 140,313 ล้านบาท
ขณะที่นักท่องเที่ยวคาซัคสถานในช่วง 5 เดือนดังกล่าวจะมีจำนวนประมาณ 129,485 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ประมาณ 7,930 ล้านบาท โดยมาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการ Quick Win ที่รัฐบาลใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะสั้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 กันยายน 2566 จำนวน 2,284,281 คน ถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวอันดับที่ 2 รองจากมาเลเซียที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด
ทั้งนี้ถ้าไม่มีมาตรการในการยกเว้นการตรวจลงตรา ( Visa Exemption) จะมีแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2566 จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,470,430 คน ซึ่งคิดเป็นอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 31 สร้างรายได้ 174,358 ล้านบาท
แต่เมื่อมีการยกเว้นการตรวจลงตราจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการกระตุ้นตลาด ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 4.04-4.4 ล้านคน และมุ่งสู่เป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้ 257,500 ล้านบาทในปี 2566
เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง (Ease of Traveling) นักท่องเที่ยวไม่ต้องใช้ระยะเวลาในการขอตรวจลงตรา และเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยได้ง่ายขึ้น รวมถึงในช่วงวันที่ 1- 8 ตุลาคมนี้ที่จะเป็นช่วง Golden week ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมออกเดินทางท่องเที่ยว
ประกอบกับพันธมิตรด้านสายการบินมีความพร้อมจัดทำเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน ตลอดจนการเปิดเส้นทางการบินใหม่ อาทิ เฉิงตู – สมุย, ปักกิ่ง – เชียงใหม่, กวางโจว – เชียงใหม่, เซี่ยงไฮ้ – เชียงใหม่, เซี่ยงไฮ้ - ภูเก็ต, กวางโจว – ภูเก็ต, คุนหมิง – หาดใหญ่ ทั้งระยะของมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรายังครอบคลุมถึงช่วงเทศกาลวันหยุดปีใหม่และตรุษจีนที่จะช่วยส่งเสริมกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในช่วงต้นปี 2567 อีกด้วย
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT กล่าวว่าหลังจากรัฐบาลได้ประกาศมาตรการ Visa Free สนามบินสุวรรณภูมิคาดว่าจำนวนเที่ยวบินจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเพิ่มขึ้น
โดยคาดว่าในช่วง 7 วันแรกของมาตรการ คือ ระหว่างวันที่ 25 กันยายน – 1 ตุลาคม 2566 จะมีเที่ยวบินรวม 674 เที่ยวบิน (เฉลี่ย 96 เที่ยวบินต่อวัน) เป็นเที่ยวบินขาเข้าและขาออก ขาละ 337 เที่ยวบิน
ในส่วนประมาณการผู้โดยสารคาดว่าจะมีผู้โดยสารจากเที่ยวบินจีนรวม 130,593 คน (เฉลี่ย 18,656 คนต่อวัน) แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 65,584 คน ขาออก 65,009 คน
สำหรับเที่ยวบินระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ และสาธารณรัฐคาซัคสถาน คาดว่าในช่วง 7 วันแรกของมาตรการ ระหว่างวันที่ 25 กันยายน – 1 ตุลาคม 2566 มีเที่ยวบินรวม 6 เที่ยวบิน
แบ่งเป็นเที่ยวบินขาเข้าและขาออก ขาละ 3 เที่ยวบิน เท่ากับช่วงก่อนมีมาตรการ แต่คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,338 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้าและขาออก
ขาละ 669 คน
การเตรียมความพร้อมของสนามบินสุวรรณภูมิ ในการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า – ขาออก นั้นได้มีการบูรณาการการบริหารจัดการในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่
1.ขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งปัจจุบันมีช่องตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (ตม.) ขาเข้า 138 ช่องตรวจ (ช่องปกติ 118 ช่องตรวจ และช่อง Visa On Arrival อีก 20 ช่องตรวจ) และมีเครื่อง Auto Channel จำนวน 16 เครื่อง
สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7,140 คนต่อชั่วโมง (กรณีที่มีการใช้งานทุกช่องตรวจ) ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน และมีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 1,550 ตารางเมตร ซึ่งสนามบินสุวรรณภูมิได้วางแนวทางดำเนินการกรณีเกิดความหนาแน่นบริเวณช่องตรวจหนังสือเดินทางขาเข้า โดยประสานเจ้าหน้าที่ ตม.ให้นั่งเต็มทุกเคาน์เตอร์ในชั่วโมงหนาแน่น (ช่วงกลางวันระหว่างเวลา 11.00 – 16.00 น.)
2.ขั้นตอนรับกระเป๋าสัมภาระ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสายพานรับกระเป๋าขาเข้าสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ 4 สายพาน และสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ 18 สายพาน โดยหากเกิดความหนาแน่นบริเวณสายพานรับกระเป๋า สนามบินสุวรรณภูมิจะกำกับดูแลและติดตามเวลา First Bag และ Last Bag ของผู้ให้บริการภาคพื้นและสายการบิน
ปัจจุบันผู้รับสัมปทานผู้ให้บริการภาคพื้น (บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอก ไฟลท์ เซอร์วิส จำกัด) สามารถทำได้อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นจากช่วงปลายปี 2565
1.ขั้นตอนการเช็กอินซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเคาน์เตอร์เช็กอิน แบบเดิม 302 เคาน์เตอร์ (ใช้เวลาเฉลี่ย 3 นาทีต่อคน) และมีเครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) จำนวน 196 เครื่อง และเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) จำนวน 50 เครื่อง (ใช้เวลาเฉลี่ย 1 นาทีต่อคน) และกำหนดแนวทางการลดปัญหาความหนาแน่น โดยการทำ Early Check-in
พร้อมประสานสายการบินให้นั่งเคาน์เตอร์ให้เต็ม และประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารใช้ CUSS และ CUBD
2. บริการจุดตรวจค้น ซึ่งปัจจุบันมีจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศจำนวน 3 โซน เครื่องเอ็กซเรย์ 25 เครื่อง และมีการติดตั้งระบบ Automatic Return Tray System (ARTS) ที่ใช้ระยะเวลาในการตรวจค้นไม่เกิน 7 นาทีต่อคน
วางแนวทางลดความหนาแน่น โดยเกลี่ยแถวในโซนจุดตรวจค้นที่หนาแน่น
3. ขั้นตอนการตรวจลงตรา ซึ่งปัจจุบันมีช่องตรวจหนังสือเดินทาง ตม.ขาออก 69 ช่องตรวจ และเครื่อง Auto Channel 16 เครื่อง ที่ใช้ระยะเวลาในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน มีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 2,199 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,149 คนต่อชั่วโมง
โดยได้วางแนวทางลดความหนาแน่นบริเวณ ตม.ขาออก โดยประสานเจ้าหน้าที่ ตม.ให้นั่งเต็มทุกเคาน์เตอร์ในชั่วโมงหนาแน่น (ช่วงเช้าระหว่างเวลา 06.00 – 07.00 น. ช่วงกลางวันระหว่างเวลา 14.00 – 15.00 น. และช่วงกลางคืนระหว่างเวลา 21.00 – 23.00 น.)