นายซีซาร์ อินทรา ประธานกรรมการของกลุ่มทราเวลโลก้า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การกลับมาของนักท่องเที่ยวในปี 2566 ส่งผลให้ธุรกิจฟื้นตัวและมีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลการสำรวจภาวะการท่องเที่ยวโลกของ UNWTO ครั้งที่สองของปี 2566 เปิดเผยว่านักท่องเที่ยวประมาณ 235 ล้านคนเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 2 เท่า แสดงให้เห็นแน้วโน้มที่ดีของประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวที่เฟื่องฟูแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงธุรกิจรายย่อย (Micro SME: MSME) เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่นำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ธุรกิจเหล่านี้จากทุกภาคส่วนสร้างรายได้เกือบ 170 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562 หรือประมาณ 35 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อย่างไรก็ตาม หลังจากฝ่าฟันจุดเลวร้ายที่สุดของสถานการณ์โรคระบาดมาได้ ตอนนี้พวกเขายังต้องเผชิญกับปัญหาภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและสภาพคล่องต่ำ
SME ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำนวนมากไม่ได้เตรียมพร้อมในการรับมือกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วในปี 2566 และมีความกังวลด้านการแข่งขัน จากการสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคาดว่า 80 % ของธุรกิจจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้
ถึงเวลาที่แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวจะเข้ามาช่วยธุรกิจท่องเที่ยวขนาดย่อมและขนาดกลาง (Small and medium tourism business: SMTB) ในประเทศไทยให้ได้แสดงศักยภาพ แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นศูนย์กลางแบบครบวงจร มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเชิงลึกและมีผู้เข้าถึงทั่วโลก ถือเป็นพันธมิตรที่ดีพร้อมทั้งด้านการเพิ่มผลกำไร การขยายตัว และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
บทบาทสำคัญของเทคโนโลยี
SMTB ในประเทศเผชิญกับความท้าทายที่ไม่มีวันจบสิ้นเพื่อความอยู่รอดและการสร้างรายได้ ตั้งแต่กำลังซื้อที่ต่ำของผู้บริโภคไปจนถึงความสามารถทางภาษา ธุรกิจมักประสบปัญหาในการเข้าถึงลูกค้าที่ใช่ในเวลาที่เหมาะสม
โควิด-19 ทำให้ปัญหาอื่น ๆ รุนแรงขึ้นไปอีก นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในขณะที่ประเทศกำลังขาดแคลนแรงงานภายหลังการเลิกจ้างจำนวนมากเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบแบบเฉียบพลัน โดยประมาณ 30% ของร้านสปาและร้านนวดกว่า 8,000 แห่งในประเทศไทยขาดแคลนบุคลาการที่มีความเชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตาม ความกังวลที่จะพลาดโอกาสทองของการท่องเที่ยวเพราะขาดแคลนแรงงานสามารถบรรเทาลงได้ด้วยการผนึกกำลังกับแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวซึ่งใช้โซลูชั่นที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทำหน้าที่สนับสนุน SMTB ของไทยในการให้บริการระบบการจองแบบครบวงจร วิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ และให้บริการเครื่องมือด้านการจัดการลูกค้าสัมพันธ์
การกรอกข้อมูลทางธุรกิจด้วยตนเองในทุก ๆ วัน เช่น คำถามหรือการจองของลูกค้าที่มีเข้ามา จะถูกแทนที่ด้วยกระบวนการอัตโนมัติที่ไม่ต้องคอยจดจ่ออยู่กับหน้าจอตลอดเวลา ไม่เพียงแต่ทำให้ SMTB สามารถรับมือกับปัญหาการขาดแคลนพนักงานได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเตรียมสกิลความพร้อมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลให้พนักงานปัจจุบันและอนาคตเพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์
กระนั้น ผลประโยชน์ที่เจ้าของธุรกิจขนาดย่อมจะได้รับเป็นหลักเมื่อทำงานกับแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวคือความสามารถในการให้บริการแบบเฉพาะเจาะจงที่ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของนักเดินทางในปัจจุบัน การเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจช่วยให้พนักงานมีอิสระในการให้ความสำคัญกับสิ่งที่พวกเขาถนัด โดยการมอบประสบการณ์ให้แก่ลูกค้าด้วยใจบริการเพื่อชนะใจลูกค้าและเพิ่มรายได้ทางธุรกิจ
การทำธุรกิจแบบไร้พรมแดน
ประโยชน์อีกประการหนึ่งที่แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวมอบให้แก่บริษัทคือโลกไร้พรมแดน แทนที่จะรอให้ลูกค้ามาใช้บริการหน้าร้าน SMTB สามารถให้บริการลูกค้าได้ไม่ว่าพวกเขาจะใช้บริการจากที่ใดก็ตาม อาทิ การขายออนไลน์ หรือเพียงแค่วางผลิตภัณฑ์และบริการหน้าร้านบนร้านคำจำลองเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้เลือกสรร ทำให้การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคกลุ่มใหม่เป็นเรื่องง่าย
การให้บริการดังกล่าวช่วยยกระดับการแข่งขันทางธุรกิจให้ธุรกิจขนาดย่อมสามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกและเข้าถึงลูกค้าอย่างไร้พรมแดนได้ จากการศึกษาพบว่า แปดในสิบของ MSME ที่รองรับระบบดิจิทัล ยืนยันว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม
การเข้าสู่โลกออนไลน์ถือเป็นโอกาสของ SMTB ในการเชื่อมต่อกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายโดยไม่ต้องเสียเงินจำนวนมากในการทำการตลาด หัวใจหลักในการเข้าสู่โลกออนไลน์คือธุรกิจจะได้ยกระดับการมองเห็นผ่านดิจิทัลเพื่อเปิดประตูแห่งโอกาสใหม่ให้กับฐานลูกค้าที่หลากหลาย
ส่งผลให้เอื้อต่อรายได้ที่มากขึ้นในขณะที่ต้นทุนแฝงก็ลดลง ฉะนั้น เมื่อพิจารณาแล้ว การให้ความสำคัญต่อความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของธุรกิจท่องเที่ยวขนาดย่อมของไทยจึงเป็นสิ่งจำเป็น
มั่นใจในจุดมุ่งหมายเดียวกัน
การทำงานร่วมกันของแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวและ SMTB สามารถสร้างระบบนิเวศการท่องเที่ยวไทยให้แข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และครอบคลุม ซึ่งกลายเป็นฟันเฟืองทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งได้ แต่ความฝันจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกัน
ฟังดูเรียบง่ายแต่ประกอบไปด้วยรากฐานสู่ความสำเร็จมากมาย มีอุปสรรคที่ชัดเจน เช่น อุปสรรคด้านภาษา และอุปสรรคแฝง เช่น การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนา
แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวสามารถเป็นผู้นำในเรื่องแปลกใหม่ และโอกาสใหม่ ๆ ให้ธุรกิจขนาดย่อม ตัวอย่าง ทราเวลโลก้า (Traveloka) มีวิธีการชำระเงินในแต่ละท้องถิ่นบนแพลตฟอร์ม ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการชำระเงินแก่ผู้ให้บริการกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แทนที่จะชำระเงินสดหรือชำระหน้าร้านสะดวกซื้อ การทำธุรกรรมเช่นนี้ปูทางให้ SMTB ย้ายมาช่องทางออนไลน์และดึงดูดลูกค้ามากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง สร้างรายได้ให้มากขึ้น
การที่แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวนำธุรกิจขนาดย่อมย้ายเข้าสู่โลกออนไลน์ถือเป็นสูตรสำเร็จ และมอบประสบการณ์ความเป็นไทยที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง