ผลักดัน "วัฒนธรรม" เป็น "Soft Power" ไม่ง่าย ใช่ทุกคนจะซื้อ

13 ธ.ค. 2566 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2566 | 06:45 น.

ส่องมุมนักวิจารณ์ฯ ต่อแผนผลักดันวัฒนธรรมเป็น “Soft Power” ของรัฐบาลไทย เผยเรื่องนี้ต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้างแรงสนับสนุน หากอยากบรรลุผลสำเร็จในเวทีระดับโลก

องค์ประกอบทางวัฒนธรรมของประเทศไทยถูกมองว่าเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง ตั้งแต่ศิลปะมวยไทย ไปจนถึงขนมไทยอย่างข้าวเหนียวมะม่วง ที่ได้มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง และถูกยกให้เป็น “Soft Power” ทั้งนี้ ด้านนักวิจารณ์เผย สิ่งนี้อาจไม่แปลงไปสู่การมีอิทธิพลในระดับนานาชาติได้ 

ย้อนรอยที่มาของการผลักดัน “Soft Power” 
“อำนาจละมุน” หรือ “ซอฟท์พาวเวอร์” กลายเป็นศัพท์ฮิตในวงการการเมืองในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา เมื่อนักร้อง K-Pop สัญชาติไทย อย่างนางสาวลลิษา มโนบาล หรือเราที่รู้จักกันในนามของ “ลิซ่า สมาชิกวง BLACKPINK” ออกผลงานอัลบั้มเดี่ยว และได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทำให้นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายต่างร่วมกันยกย่องบุคคล ผลิตภัณฑ์ หรืองานกิจกรรมของไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศนับแต่นั้นมา 

รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยมีการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว เพื่อส่งเสริมนโยบาย Soft Power ทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ได้เสนอให้จัดสรรเงิน 5.1 พันล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับโครงการริเริ่มในด้านความบันเทิง การท่องเที่ยว ศิลปะ และภาคสำนักพิมพ์ โดยหวังว่าการขับเคลื่อนนี้จะสร้างรายได้ประมาณ 4 ล้านล้านบาท สร้างงาน 20 ล้านงานในประเทศประมาณ 70 ล้าน และเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน

รัฐบาลผลักดัน เทศกาลสงกรานต์ของไทย เป็น Soft Power ดึงดูดนักท่องเที่ยว

แผนผลักดันมรดกทางวัฒนธรรม "สงกรานต์" เป็น “Soft Power” 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นำโดยรองประธานหญิง แพทองธาร ชินวัตร ได้เสนอแนะให้ขยายการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ประจำปี และกิจกรรมทางวัฒนธรรมไปตลอดทั้งเดือน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น จากปกติจะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วันในเดือนเมษายน (13-15 เม.ย.) นางแพทองธารคาดว่า การขยายช่วงเวลาเฉลิมฉลองเทศกาลนี้จะสร้างรายได้ 35,000 ล้านบาท

มุมมองนักวิจารณ์ฯ ต่อแผนผลักดันวัฒนธรรมเป็น “Soft Power” ของรัฐบาลไทย

ผศ.ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถึงแม้จะเป็นไปในทางที่ดี แต่การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการ Soft Power ที่จะมาส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนนั้นตีวงแคบเกินไป พร้อมตั้งคำถาม “การโปรโมตเทศกาลสงกรานต์ นับเป็นการดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่ดี แต่ในท้ายที่สุดก็มีเรื่องของผลประโยชน์ทางการเงินเป็นหลัก แล้วมันจะส่งผลต่อจุดยืนของประเทศไทยในระดับนานาชาติได้อย่างไร

นโยบายผลักดัน Soft Power ของรัฐบาลไทย

การจะได้รับอิทธิพลและความน่าเชื่อถือในแวดวงภูมิรัฐศาสตร์นั้น ต้องทำมากกว่าแค่การส่งเสริมทรัพย์สินในท้องถิ่น และวัฒนธรรมของตัวเองไปทั่วโลก พร้อมเตือนว่าไม่ให้เน้นย้ำเรื่องความเป็น Soft Power หรือการขายแนวคิดแบบตรงไปตรงมามากเกินไป “มันจะเหมือนกับการโฆษณาทางโทรศัพท์ที่เราได้รับ ผมยังไม่เคยซื้ออะไรจากผู้โทรเหล่านั้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว” ผศ.ดร.พีระ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศ กล่าวเสริม

Soft Power คือ ศักยภาพของประเทศ ที่อาศัยแรงดึงดูดและการโน้มน้าวใจ มากกว่าการใช้อำนาจบีบบังคับ

โดยแก่นแท้แล้ว Soft Power ถือเป็นศักยภาพของประเทศในการโน้มน้าวพฤติกรรมของผู้อื่น เพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาศัยแรงดึงดูดและการโน้มน้าวใจ มากกว่าการใช้อำนาจหรือการบีบบังคับ และโดยทั่วไปจะขับเคลื่อนผ่านวิธีการทางวัฒนธรรม การเมือง และอุดมการณ์

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าฝ่ายการตลาด คณะบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนั่งอยู่ในคณะกรรมการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมซอฟท์พาวเวอร์หลายแห่ง กล่าว คำว่า “Soft Power” ถูกใช้อย่างตามอำเภอใจในหมู่ผู้นำไทยมากเกินไป วัดทางประวัติศาสตร์ ต้มยำกุ้ง และนาฏศิลป์ไทย ล้วนแล้วแต่เป็นทรัพย์สินของไทยที่รู้จักกันดี แต่การส่งออกและโปรโมตวัฒนธรรม รวมถึงผลิตภัณฑ์ของไทยเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่ได้เท่ากับ Soft Power “มันจะต้องมีอิทธิพลต่อผู้อื่นนอกประเทศไทยด้วย และไม่ใช่ว่าทรัพย์สินทุกอย่างจะเป็นเครื่องมือในการสร้างอิทธิพลได้”

เศรษฐกิจประเทศไทย “วิกฤต” ไตรมาส 3 เติบโตต่ำกว่าที่คาด หวังใช้ Soft Power บรรลุเป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านอาหาร เทศกาล และชายหาดอยู่แล้ว รวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯก็เป็นหนึ่งในเมืองที่มีผู้เยี่ยมชมจากทั่วโลกมากที่สุด และแม้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ผู้นำรัฐบาลกล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศอยู่ใน “วิกฤต” การเติบโตของไตรมาสที่ 3 ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี สาเหตุเนื่องมาจากการส่งออกที่อ่อนแอ และการใช้จ่ายของภาครัฐ ประเทศไทยจึงหวังว่าจะใช้ความเป็น Soft Power เพื่อบรรลุเป้าหมายปัจจุบันในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผศ.ดร.เอกก์เผย 

การยกระดับอุดมการณ์ของประเทศไทย ต้องหาว่าเราอยากบอกอะไรกับโลก และจะส่งต่อคุณค่าเหล่านั้นไปยังประเทศอื่นๆ อย่างไร

แทนที่จะมุ่งเป้าไปที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ผศ.ดร.พีระแนะนำว่า โครงการริเริ่มซอฟท์พาวเวอร์ที่จะช่วยยกระดับอุดมการณ์ของประเทศไทยคือ “ข้อความที่ประเทศไทยต้องการบอกต่อโลกคืออะไร และเราต้องการที่จะถ่ายทอดคุณค่าอะไรให้กับประเทศอื่นๆ บ้าง” พร้อมยกตัวอย่างว่า ประเทศอาจมีส่วนร่วมในความช่วยเหลือระหว่างประเทศมากขึ้น หรือให้โอกาสด้านทุนการศึกษาแก่นักเรียนในภูมิภาคมากขึ้น เป็นต้น

การร่วมส่งเสริมกิจกรรม "Pride Month" จะสร้างความสำคัญและเสริมสร้างความเป็น Soft Power ของไทย

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถส่งเสริมกิจกรรม Pride Month ในเดือนมิถุนายนได้ ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณถึงการเปิดกว้างของประเทศไทย และการสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ “ในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใกล้ปลดล็อกกฎหมายสิทธิ LGBTQ+ มากที่สุด ดังนั้น การทำเช่นนี้จะทำให้เรามีความสำคัญ และจะเสริมสร้างความเป็น Soft Power ของเราได้อีกด้วย” 

Pride Month

ผศ.ดร.พีระกล่าว ประเทศไทยมีชุมชน LGBTQ+ ที่มองเห็นได้มากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย รวมถึงจะมีการร่างกฎหมายเกี่ยวกับ “การสมรสเท่าเทียม” ที่มีกำหนดการอภิปรายในรัฐสภาในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติ ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมาย

“หากต้องการบรรลุผลสำเร็จไปสู่การเมืองระดับโลก จะต้องสร้างความรู้สึกอยากสนับสนุนความเป็นไทย เพื่อโปรไฟล์ที่ดีขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ” 

เรื่องนี้ต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้างแรงสนับสนุน หากอยากบรรลุผลสำเร็จในเวทีระดับโลก

Soft Power ของประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้เองก็ใช้เวลาหลายปีในการสร้างเช่นกัน “เรื่องนี้ต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้างแรงสนับสนุน Soft Power ทว่าเราเพิ่งจะผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐบาลทหารอีกต่อไป นั่นถือเป็นก้าวหนึ่งสู่การพลิกฟื้นอิทธิพลของเราให้ดีขึ้น” ผศ.ดร.พีระ เสริม

 

ขอบคุณที่มา : The Straits Times