22 มกราคม 2567 ที่จังหวัดระนอง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจราชการในการประชุม ครม. นอกสถานที่พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายนำเรื่องสุขภาพมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจังหวัดระนอง มีศักยภาพที่จะพัฒนายกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชั้นนำของโลกได้
จากความโดดเด่นของการมีแหล่ง "น้ำแร่" ที่มีคุณภาพดีเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และติด 1 ใน 3 ของโลก สามารถนำมาใช้บำบัดผู้ป่วยและให้บริการสปา เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งยังมีสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองเป็นศูนย์เวลเนสแล้วถึง 37 แห่ง ประกอบด้วย ที่พักนักท่องเที่ยว (โรงแรมและรีสอร์ท) 14 แห่ง, ร้านอาหารหรือภัตตาคาร 18 แห่ง, นวดเพื่อสุขภาพ 1 แห่ง, สปาเพื่อสุขภาพ 1 แห่ง และสถานพยาบาล 3 แห่ง
นายสันติ กล่าวต่อว่า การใช้น้ำแร่ร้อนบำบัดอาการและสปาเป็นที่นิยมมากในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่นที่โรงพยาบาลระนอง มีสถานบริการผ่านการรับรองมาตรฐานศูนย์เวลเนส 2 แห่ง ได้แก่ "ราชาวดีสปาและน้ำแร่" เป็นสปาทางการแพทย์ด้านส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ให้บริการธาราบำบัด สปาส่งเสริมสุขภาพ นวดไทย อบสมุนไพร นวดน้ำมันตามธาตุเจ้าเรือน เป็นต้น
ในปี 2566 ให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 19,096 ครั้ง สร้างรายได้ให้โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจาก 4.3 ล้านบาท เป็น 7.2 ล้านบาท และ "ศูนย์ธาราบำบัด น้ำแร่ร้อนธรรมชาติ" ให้บริการทั้งผู้ป่วยและนักท่องเที่ยว ด้วยการนำน้ำแร่ร้อนมาเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมสุขภาพ รักษา บำบัดฟื้นฟู
โดยใช้คุณสมบัติของน้ำช่วยพยุงให้ร่างกายเคลื่อนไหวง่ายขึ้น ลดแรงกระแทกในข้อต่อต่างๆ บรรเทาอาการเจ็บปวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด
ในปี 2566 ผู้ป่วยอาการปวดเข่า ปวดหลัง ข้อไหล่ติด และโรคหลอดเลือดสมอง เข้ารับบริการมากที่สุด รวม 472 ราย/1,845 ครั้ง มีอาการดีขึ้น/หายแล้ว ร้อยละ 89.70 ทั้งยังพบว่า ผู้ป่วยที่รับบริการธาราบำบัดร่วมกับกายภาพบำบัด สามารถลดระยะเวลาในการรักษาลงได้ถึงร้อยละ 50