ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ สางหนี้ 2.8 หมื่นล้าน มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟู ปลายปี 68

30 ม.ค. 2567 | 06:37 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2567 | 06:38 น.

ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เร่งปลดหนี้ 2.8 หมื่นล้านบาท จ่อเพิ่มทุน 1 พันล้านบาทมั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูปลายปี 2568 ล่าสุดลดหนี้เหลือ 5-6 พันล้านบาทแล้ว เพิ่มเครื่องบินอีก 4 ลำขยายเที่ยวบินยุโรปปลายปีนี้ จ่อควบรวมกิจการกับไทยแอร์เอเชีย หลังออกจากแผนฟื้นฟู ในอีก 2 ปีข้างหน้า

KEY

POINTS

  • ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ประสบปัญหาการขาดทุน จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจะเปิดทำการบินเส้นทางระหว่างเทศได้ในช่วงดังกล่าว ทำให้สายการบินได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ
  • ศาลล้มละลายกลางออกคำสั่งเห็นชอบแผนแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 โดยสายการบินมีภาระหนี้ 2.8 หมื่นล้านบาท
  • ปัจจุบันสายการบินดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ จนลดภาระหนี้ได้ 5-6 พันล้านบาท มั่นใจว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการปลายปี 2568

นับเป็นเวลากว่า 5 เดือนที่สายการบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ หลังศาลล้มละลายมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ซึ่งได้รับการแก้ไขตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566

มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูปลายปี 2568

ล่าสุดสายการบินมั่นใจจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วกว่า 5 ปี โดยคาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายในช่วงปลายปี 2568 นี้ ควบคู่ไปกับแผนสร้างการเติบโตของสายการบิน ทั้งช่วงระหว่างอยู่ในแผนฟื้นฟู

รวมถึงมองไปถึงหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ที่จะดำเนินการควบรวมสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กับสายการบินไทยแอร์เอเชีย ให้เป็นสายการบินเดียวกัน ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นโมเดลเดียวกับที่แอร์เอเชีย มาเลเซีย ได้ควบรวมสายการบินแอร์เอเชีย กับ แอร์เอเชีย เอ็กซ์

หลังจากแคปปิตอล เอ (Capital A Berhad) ประกาศขายกิจการธุรกิจการบินในกลุ่มแอร์เอเชีย ให้กับแอร์เอเชีย เอ็กซ์(AirAsia X Berhad) และมีแผนจะรวมกิจการธุรกิจการบินภายใต้แบรนด์แอร์เอเชีย กับแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เข้าด้วยกัน

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์

ล่าสุดลดหนี้เหลือ 5-6 พันล้านบาทแล้ว

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าหลังจากศาลล้มละลายกลาง อนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ให้เราจ่ายหนี้ประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ตอนนี้เหลือหนี้อยู่ราว 5-6 พันกว่าล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากสายการบินไม่ได้ให้บริการในช่วงโควิด-19 เป็นหนี้ค่าเช่าเครื่องบิน ผู้โดยสารขอคืนตั๋วเครื่องบิน (รีฟันด์) หนี้สถาบันการเงิน หนี้สนามบิน รวมถึงบริการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดกลุ่มเจ้าหนี้ได้ 19 กลุ่ม

ปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้ทยอยแฮร์คัตหนี้ได้กว่า 70% ส่วนใหญ่เป็นหนี้ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าซ่อมเครื่องบิน ที่ขอเจรจาผ่อนชำระ ลดค่าเช่าโดยคิดค่าเช่าตามชั่วโมงใช้งาน การทยอยคืนเครื่องบินไปช่วงก่อนหน้านี้ เป็นต้น รวมถึงทยอยชำระหนี้ต่างๆ โดยการชำระหนี้ทั้งหมดสายการบินจะนำกระแสเงินสด ที่ได้มาจากผลประกอบการมาชำระหนี้

แผนฟื้นฟูกิจการ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์

ส่วนการปรับโครงสร้างทุน เราก็อาจจะเพิ่มทุน หรือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็มีหลายวิธี ที่กำลังพิจารณาในรายละเอียด ที่ต้องดูปัจจัยเรื่องของสภาพแวดล้อม ภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทย หลังการยกเว้นการออกวีซ่า ให้นักท่องเที่ยวจีน ที่จะทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางกลับมาเที่ยวไทยได้มากน้อยแค่ไหนด้วย

จากสถานการณ์ขณะนี้ เรามั่นใจว่าสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในช่วงปลายปี 2568 เร็วกว่าแผนฟื้นฟูที่เรามีเวลาชำหนี้ตามแผนฟื้นฟูเป็นเวลา 5 ปี ในขณะนี้แม้ทิศทางการดำเนินธุรกิจหลังโควิด-19 จะกลับมาฟื้นตัว แต่ด้วยความที่เรายังมีขาดทุนสะสมอยู่

ทำให้เราต้องเร่งหารายได้ ให้เพียงพอ และเพิ่มขึ้นมากกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการขยายธุรกิจ ซึ่งการกลับมาเริ่มบินโตใหม่อีกครั้ง ด้วยการนำเครื่องบินกลับมาให้บริการใหม่ ก็ต้องมีเรื่องของค่าซ่อมบำรุง การเช่าเครื่องบินเพิ่ม ซึ่งเรามั่นใจออกจากแผนโดยเร็ว และเจริญเติบโตได้ด้วย

เพิ่มเครื่องบินอีก 4 ลำขยายเที่ยวบินยุโรปปลายปีนี้

นายธรรศพลฐ์ ยังกล่าวต่อว่า ปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีเครื่องบินอยู่ 6 ลำ และในปี 2567 นี้ จะรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A330-300 อีก 4 ลำใหม่ โดยจะมุ่งในการเพิ่มความถี่และเส้นทางสู่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง รวมถึงกลับไปให้บริการสู่เมลเบิร์นในออสเตรเลีย นอกจากนี้สายการบินมีแผนจะเปิดให้บริการสู่คาซัคสถาน โดยอยู่ระหว่างการขออนุญาตทำการบินสู่นครอัลมาตี ซึ่งขณะนี้ได้มีการยกเว้นวีซ่าระหว่างไทยและคาซัคสถาน ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น

ทั้งสายการบินมองโอกาสที่จะเปิดให้บริการสู่ยุโรปในช่วงปลายปี 2567 นี้ โดยทำการศึกษาไว้หลายเมือง เช่น ปราก เวียนนา มิลาน บูดาเปสต์ รวมถึงจุดบินในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ซึ่งจะต้องดูเครื่องบินที่กำลังทยอยจะนำเข้าประจำการว่ามีพิสัยและการจัดห้องโดยสารที่เหมาะกับการทำการบินเส้นทางใด

ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์

จ่อควบรวมกิจการกับไทยแอร์เอเชีย หลังออกจากแผนฟื้นฟู

นอกจากนี้เรายังมองถึงการเติบโตของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการด้วยว่า จะต้องมาพิจารณาดีลในการรวมกันของไทยแอร์เอเชีย กับไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ อีกครั้ง โดยพิจารณาถึงมูลค่าของทั้ง 2 บริษัทในขณะนั้น

การที่เราเลือกที่จะพิจารณาการควบรวมทั้ง 2 สายการบินหลังออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว เนื่องจากหากจะยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟู จะต้องได้รับเห็นชอบจากเจ้าหนี้ ดังนั้นเราจึงเดินตามแผนฟื้นฟูที่เจ้าหนี้เห็นชอบอยู่แล้วเป็นหลัก จากนั้นเมื่อออกจากแผนฟื้นฟูแล้วถึงจะมาดำเนินการเรื่องการรวมสายการบิน

ทั้งนี้การที่ในอนาคตการควบรวมกิจการกันระหว่างไทยแอร์เอเชีย กับไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะช่วยในการบริหารจัดการฝูงบินและเส้นทางบิน รวมถึงการปฏิบัติการได้ดีกว่า เนื่องจากว่าในขณะนี้ทั้ง 2 สายการบินมีฝูงบินที่แยกกัน คือ ไทยแอร์เอเชีย (FD)ใช้เครื่องบินทางเดินเดี่ยว แอร์บัส A 320 ส่วนไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์(XJ) ใช้เครื่องบินลำตัวกว้างคือ แอร์บัส A330

ในบางครั้งเส้นทางในประเทศหรือเส้นทางภูมิภาคของไทยแอร์เอเชีย มีความต้องการเดินทางสูงก็ไม่สามารถนำ เอ330 ของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มาใช้ให้บริการได้ หรือกรณีบางเส้นทางไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีผู้โดยสารน้อย ก็ไม่สามารถนำเครื่องบินของไทยแอร์เอเชีย ที่มีขนาดเล็กกว่ามาให้บริการผู้โดยสาร เพื่อลดต้นทุนได้

เนื่องจากเป็นคนละสายการบิน มีใบอนุญาตประกอบกิจการเดินอากาศ (AOC) แยกกัน มีนักบินลูกเรือแยกกันคนละบริษัท ดังนั้นการควบรวมกันจะทำให้การบริหารจัดการเครื่องบินมีความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารฝูงบินที่ยืดหยุ่นระหว่างการใช้เครื่องบินที่มีขนาดต่างกัน การบริหารตารางการบิน (สล็อตบิน) ให้เชื่อมกันได้ดีขึ้น รวมถึงโอกาสในการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆก็จะสามารถทำได้ ผ่านการยืดหยุ่นในการใช้เครื่องบินให้สอดคล้องกับดีมานต์ของผู้โดยสารเพื่อสร้างรายได้ที่ดีขึ้น

ล่าสุดกลุ่มแอร์เอเชียได้จัดหาเครื่องบินใหม่จำนวน 412 ลำ ตามแผนระยะยาว โดย 75% Already in finance (อยู่ในขั้นตอนสัญญาทางการเงินแล้ว)และอยู่ในขั้นตอนผลิตและส่งมอบ แบ่งเป็นเครื่องบินแอร์บัส A321neo จำนวน 377 ลำ, แอร์บัส A321XLR จำนวน 15 ลำ และแอร์บัส A330 neo จำนวน 20 ลำ และจะทยอยเข้าสู่ฝูงบินนับจากนี้ ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 25% ของจำนวนเครื่องบินทั้งหมดที่สั่งไปนั้น หรือประมาณ 100-150 ลำ จะนำมาปฏิบัติการบินในประเทศไทย

ฝูงบินใหม่ในกลุ่มแอร์เอเชีย สำหรับหลักๆของแผนฟื้นฟูกิจการของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะเป็นการลดต้นทุนการดำเนินการโดยการเจรจาปรับโครงสร้างสัญญาเช่าเครื่องบิน เเละสัญญาบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้เหมาะสม การทยอยชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยใช้กระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินธุรกิจ การเพิ่มฝูงบินสร้างรายได้

โดยจะเดินหน้าเพิ่มจำนวนเครื่องบินตามเเผนฟื้นฟูกิจการ อย่างน้อย 3-5 ลำ ภายในปี 2567 และรวมเป็น 17 ลำ ภายในปี 2571 ซึ่งจะทำให้ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์มีฝูงบินขนาดใหญ่พร้อมขยายเส้นทางและสร้างเครือข่ายการบินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ณ ฐานการบินหลักที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจคาร์โก้

ส่วนความสำเร็จที่จะออกจากแผนฟื้นฟู ไม่ได้อยู่ที่การชำระหนี้สินคืนให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายจนเสร็จสิ้น แต่อยู่ที่การทำให้สถานะของบริษัทฯพ้นจากสภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวและมีสภาพคล่องเพียงพอ ในการดำเนินธุรกิจได้ต่อไป อย่างไรก็ตามในระหว่างช่วงการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ หากมีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้เกิดขึ้นครบถ้วน ให้ถือว่าการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จแล้วตามแผน

ได้แก่ 1.บริษัทได้ดำเนินการปรับโครงสร้างทุน โดยการเพิ่มทุนจดทะเบียน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทตามที่กำหนด หรือบริษัทได้ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ตามที่กำหนดไว้ได้ต่อเนื่อง นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน โดยไม่ผิดนัดชำระหนี้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และ 2. ผู้บริหารแผนพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฯมีศักยภาพและมีความพร้อม ตลอดจนมีความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 417.5 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 41.7 ล้านหุ้น เป็นผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 21.2 ล้านหุ้น ส่วนใหญ่ถือโดยบริษัทเรด เอวิเอชั่น จำกัด ของนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ส่วนอีก 20.4 ล้านหุ้น และถือโดยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เบอร์ฮัด ซึ่งแผนการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทมีแผนจะเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม และหรือนักลงทุนใหม่ โดยให้สิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัท และหรือเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท โดยสามารถดำเนินการได้ในครั้งเดียวหรือหลายครั้ง