KEY
POINTS
การฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของภาคท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา แม้ตลาดกรุ๊ปทัวร์จะยังไม่กลับมาเหมือนเดิม แต่กลับเห็นชัดเจนถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่ได้รับอนิสงค์นี้ไปเต็มๆ สะท้อนจากธุรกิจท่องเที่ยวและการบินของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต่างกำไรพุ่งถ้วนหน้า
ในส่วนของธุรกิจการบินในปี 2566 ต่างพลิกจากขาดทุนมาทำกำไร ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจการบิน ในปีที่ผ่านมากำไรพุ่งสูงถึง 3.15 หมื่นล้านบาท หากรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT จะทำให้ภาพรวมธุรกิจด้านการบินของไทย มีกำไรมากถึง 4 หมื่นล้านบาท ขยายตัวอย่างมาก จากที่ในภาพรวมของปี 2565 ขาดทุนสูงถึง 2.1 หมื่นล้านบาท (รวมการดำเนินงานของทอท.)
โดยในส่วนของธุรกิจการบินในปี 2566 พบว่า “การบินไทย” ทำกำไรสูงสุด อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,260% ทุบสถิติกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดในปี 2562 ที่ในช่วงนั้นการบินไทยขาดทุนอยู่ 1.2 หมื่นล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว และความต้องการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การบินไทยมีรายได้ 161,067 ล้านบาท สูงกว่าปี 2565 กว่า 5.6 หมื่นล้านบาท แม้จะยังไม่เท่ากับปี 2562 ที่มีรายได้อยู่ที่ 184,242 ล้านบาท
แม้รายได้ของการบินไทยจะยังไม่กลับมาเท่าก่อนโควิด แต่เห็นได้ชัดเจนว่าภายหลังการเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ แม้การบินไทยจะทำการบินโดยที่เครื่องบินเหลืออยู่ 77 ลำจากที่เคยมีอยู่ 88 ลำ แต่ด้วยการบริหารจัดการภายใต้การดำเนินธุรกิจที่ดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ
สำหรับในปี 2567 นี้การบินไทยเหลือเครื่องบินอยู่ 70 ลำ และกำลังจะรับเพิ่มมาอีก 9 ลำในปีนี้ รวมถึงวางแผนจัดหาเครื่องบินระยะยาว โดยจัดหาฝูงบินใหม่ของการบินไทยรวมกว่า 80 ลำ ในปี 2570-2576 เป็นการจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner จำนวน 45 ลำ และจัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ลำ เพื่อขยายฝูงบินในการขยายรายได้เพิ่มด้วย โดยจะเลือกวิธีการจัดหา อาทิ เช่า ,เช่าซื้อ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของการบินไทย
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากทิศทางผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีแผนทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวกภายในปลายปี 2567 เพื่อนำบริษัทออกจากแผนฟื้นฟู โดยอยู่ระหว่างจัดทำไฟลิ่งเพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าบริษัทจะสามารถดำเนินออกจากแผนครึ่งแรกปี 2568 และนำหุ้น THAI กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ต่อไป
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในปี 2567 คาดว่าจะยังออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยคาดว่ารายได้รวมปีนี้จะใกล้เคียงกับ 2562 ก่อนช่วงโควิด-19 จากแผนการเพิ่มจำนวนเครื่องบินเป็น 79 ลำในปีนี้ จากปัจจุบัน 70 ลำ ปัจจุบันบริษัทยังคงมีกระแสเงินสดอยู่ที่ระดับ 6.7 หมื่นล้านบาท คาดว่า ณ สิ้นปี 2567 จะมีระดับที่มากกว่านี้ ทำให้บริษัทเริ่มจ่ายคืนหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ในปีนี้ได้ เฉลี่ยปีละราว 1 หมื่นล้านบาท รวม 12 ปี เป็นมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท รวมดอกเบี้ย ได้แก่ หนี้บัตรโดยสาร เจ้าหนี้หุ้นกู้ เงินกู้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้การค้า
ขณะที่สายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” (BA)ในปี 2566 มีกำไรจากการดำเนินงานกว่า 3.1 พันล้านบาท
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าจากอุตสาหกรรมการบินที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มธุรกิจบริการอากาศยานมีการเติบโตที่สูงขึ้น ประกอบกับปัจจัยหนุนต่าง ๆ อาทิ นโยบายการเปิดประเทศของจีน วันหยุดยาวและช่วงเทศกาลต่าง ๆ และยังส่งผลสายการบินสามารถพลิกฟื้นกลับมามีรายได้กว่า 21,732.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.06 % เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่มาจากบัตรโดยสารของธุรกิจการบิน 68.6 %
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของบางกอกแอร์เวย์ในปี 2566 ที่ผ่านมา คือการทำสัญญาความตกลงเที่ยวบินร่วมกับ สิงคโปร์แอร์ไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารของทั้ง 2 สายการบิน ในการเดินทางเชื่อมต่อไปยัง จุดหมายปลายทางยอดนิยมทั้งในไทย อาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่งผลให้ปัจจุบันมีสายการบินที่เข้าทำความตกลงเที่ยวบินร่วมแบบ “Code Share Agreement” รวมจำนวน 28 สายการบิน นอกจากนี้บางกอกแอร์เวย์สยังได้วางแผนการจัดการบริหารฝูงบินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยการเพิ่มความถี่เที่ยวบินเพื่อรองรับเส้นทางที่มีแนวโน้มความต้องการเดินทางสูง อาทิ กรุงเทพ - สมุย กรุงเทพ-ภูเก็ต สมุย-สิงคโปร์
เช่นเดียวกับ “ไทยแอร์เอเชีย” ที่ในปีนี้กลับมาทำกำไรแล้ว โดยการกลับมาทำกำไรในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมากว่า 2,813.6 ล้านบาท ดันให้ผลประกอบการตลอดปี 2566 พลิกจากขาดทุนมาทำกำไรได้ในที่สุด
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ตลอดปี 2566 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัวคึกคัก มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยกว่า 28 ล้านคน จากแรงหนุนของการเปิดพรมแดนของจีน ซึ่งเป็นประเทศหลักประเทศสุดท้าย และสภาพเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
รวมถึงรัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน มีโครงการสนับสนุนต่อเนื่อง อาทิ การยกเว้นวีซ่าประเทศต่างๆ การปรับปรุงกระบวนการภายในสนามบินให้คล่องตัวพร้อมรับนักท่องเที่ยว ในขณะที่มีเเคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจการบินในปีที่ผ่านมาฟื้นตัวได้อย่างดี
ในปี 2567 มองว่าจะเป็นปีที่ดีของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดเส้นทางระหว่างประเทศ การกลับมาของตลาดจีน เเละเส้นทางบินใหม่ๆ ที่ไทยแอร์เอเชียเปิดให้บริการเเล้ว อาทิ จากดอนเมืองสู่เซี่ยงไฮ้ เกาสง เเละล่าสุด โอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ไทยแอร์เอเชีย คาดจะขนส่งผู้โดยสาร 20-21 ล้านคนในปี 2567 โดยมีอัตราขนส่งผู้โดยสารใกล้เคียง 90 % ตั้งเป้ารายได้จากการขายและบริการเติบโต 20-23 % จากปี 2566 และขยายฝูงบินเป็น 60 ลำภายในสิ้นปี
ส่วนด้านการบริหารต้นทุน ยังคงเน้นย้ำถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการบินเพื่อชดเชยกับต้นทุนที่เกี่ยวกับเครื่องบินและสนามบินที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทเชื่อมั่นว่าในปี 2567 จะสามารถสร้างผลกำไรจากการทำการบินได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจโรงแรม ของกลุ่มโรงแรมใหญ่ในไทย ในปีที่ผ่านมาจะเห็นการเติบโตของรายได้และกำไร เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และต่างทำรายได้สูงสุดหรือ นิวไฮ โดย โรงแรมในกลุ่มไมเนอร์ หรือ MINT เป็นกลุ่มโรงแรมที่ทำกำไรสูงสุด โดยมีกำไรสุทธิ 5.4 พันล้านบาท และมีกำไรจากการีดำเนินงานสูงถึง 7.1 พันล้านบาท เนื่องจากได้รับประโยชน์จากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในทวีปยุโรป และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทย
ตามมาด้วย AWC ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าสัวเจริญ ที่ในปีนี้ทำกำไร 5.03 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่กำไรอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท และยังทำนิวไฮในกว่า 5 เรื่องด้วย
ตามมาด้วยโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา โดย CENTEL มีกำไร 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปี 65 ที่มีกำไร 398 ล้านบาท
ในขณะเดียวกันกับการฟื้นตัวของการเดินทางในไทย เฉพาะโรงแรมระดับ 5 ดาวในเมืองท่องเที่ยวหลัก โดยเฉพาะภูเก็ต ทำให้พนักงานหลายโรงแรมต่างๆได้รับเซอร์วิสชาร์จในปีที่ผ่านมาสูงมาก
โดยโรงแรมที่มีเซอร์วิสชาร์จอยู่ในระดับสูงสุด คือ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต รวมถึง แมริออท เวเคชั่น คลับ ภูเก็ต เป็นโรงแรมในเครือไมเนอร์ ซึ่งในช่วงเดือนที่พีคที่สุด คือ ช่วงธันวาคมที่ผ่านมา พนักงานได้เซอร์วิสชาร์จสูงถึงคนละ 95,733.22 บาท