ธุรกิจไมซ์ขาขึ้น ‘ทีเส็บ’มั่นใจปี 2567 รายได้ทะลุ 1.4 แสนล้าน

17 มี.ค. 2567 | 11:44 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2567 | 12:38 น.

การขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ในปี 2567 ทีเส็บตั้งเป้าสร้างรายได้ 1.4 แสนล้านบาท เป็นไปในทิศทางบวก หลังผ่านไตรมาสแรกมาแล้ว ช่วงที่เหลือของปีนี้ จะเป็นเช่นไร “จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” มีคำตอบ

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” กล่าวว่าเป้าหมายการสร้างรายได้จากธุรกิจไมซ์ หรือ MICE (Meeting, Incentive, Convention, Exhibition) ในปีงบประมาณ 2567 ของประเทศไทย ทีเส็บคาดว่าจำนวนนักเดินทางไมซ์จะกลับมาที่ระดับ 75% ของปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) โดยคาดว่าจะมีนักเดินทางไมซ์ รวม 23.2 ล้านคน สร้างรายได้ 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีงบประมาณ 2566

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ทีเส็บตั้งเป้าหมายว่าไทยจะเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ จากตลาดในประเทศ 22.2 ล้านคน สร้างรายได้ 7.3 หมื่นล้านบาท และตลาดต่างประเทศ 9.6 แสนคน สร้างรายได้ 6.3 หมื่นล้านบาท เกิดงานใหม่ในอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 26 งาน และในปี 2568 คาดว่าจำนวนนักเดินทางไมซ์จะกลับมาที่ระดับปี 62 หรือฟื้นกลับมา 100%

ทั้งนี้ผ่านมาแล้วสำหรับไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.-ธ.ค. 2566) พบว่ามีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ และรายได้จากตลาดไมซ์ สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 7.97 ล้านคน สูงกว่าที่คาดการณ์ 15.56% ทำรายได้รวมประมาณ 39,399 ล้านบาท สูงกว่าที่คาดการณ์ 9.53%

โดยเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ 226,149 คน สร้างรายได้ 14,108 ล้านบาท (ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 66,000 บาท/คน/ทริป) และนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 7,746,544 คน สร้างรายได้ 25,108 ล้านบาท  (ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,300 บาท/คน/ทริป)

ทิศทางของทีเส็บในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ในปีนี้ เราได้ศึกษาได้ศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการคาดการณ์เชิง กลยุทธ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักเดินทางไมซ์ โดยพุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นแหล่งประชุมที่ให้มูลค่าและคุณค่าสูง (High Value- Added Destination) โดยใช้ “ต้นทุน” ทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ หรือ Soft Power เป็นตัวสร้างมูลค่า

รวมถึงการเพิ่มบทบาทไทยในการกระตุ้นไมซ์ทั่วเอเชีย เป็น “High-Touch Springboard of ASIA’s Growth” โดยทีเส็บได้ผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยผ่านแผนการดำเนินงานระยะเร่งด่วนหรือ (Quick Win) ปี 2567 ทั้งการกระตุ้นตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ

รายได้อุตสาหกรรมไมซ์ ปี 2567

โดยในส่วนของตลาดต่างประเทศ ทีเส็บจะร่วมงาน “ไทยแลนด์ โรดโชว์” เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ในการสร้างสร้างรายได้และผลักดันไทยเป็น Top MICE Destination หรือจุดหมายปลายทางด้านไมซ์ โดยเน้นส่งเสริมการตลาดและภาพลักษณ์อุตสาหกรรมไมซ์ไทย การเข้าร่วม เทรดโชว์ยักษ์ใหญ่ตลอดทั้งปี 2567 อาทิ AIME Melbourne, ITCMA China, IMEX Frankfurt และ IMEX America 2024 เป็นต้น

การดึงงานที่ส่งผลกระทบสูงเข้ามาจัดในไทย ได้แก่ งาน FIFA Congress 2024 ในวันที่ 17 พ.ค.นี้ ในกรุงเทพฯ ที่จะมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกมากกว่า 1,000 คน งาน UNESCO Creative Cities of Gastronomy Subnetwork Annual Conference 2024 ในเดือนพ.ค.นี้ งาน Pinnacle Awards Asia Conference 2024 ที่พัทยา วันที่ 27-29 ก.พ. 2567

งานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี ปี 2569 คาดว่าจะมีจำนวนผู้เข้าชมงาน 3.6 ล้านคน แบ่งเป็นคนไทย 70% และชาวต่างประเทศ 30% ทำให้เกิดรายได้สะพัด 32,000 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 81,000 อัตราซึ่งมติคณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ ครั้งที่ 5/2566 ให้ปรับผังแม่บททางกายภาพ (Master Plan) ปัจจุบัน จ.อุดรฯ ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ

งานมหกรรมพืชสวนโลก จ.นครราชสีมา ปี 2572 คาดว่าจะทำให้เกิดรายได้สะพัด 18,942 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 36,003 อัตรา ขณะนี้จ.นครราชสีมา ได้จัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานประมูลสิทธิ์เป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.นครราชสีมา และคณะประเทศไทยมีกำหนดเข้าร่วมทำ Country Presentation ในการประชุม AIPH spring meeting วันที่ 3-7 มี.ค. 2567 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์

การจัดงาน World Pride เพื่อ  มุ่งยกระดับประเทศไทยให้เป็น Global Destination ของ LGBTQ+ ผ่านการจัดงานเทศกาลระดับโลกอย่าง World Pride ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 1 ล้านคน ซึ่งทีเส็บมีเป้าหมาย ประมูลสิทธ์เจ้าภาพการจัดงาน InterPride World Conference ปี 2026 และงาน World Pride ปี 2030 ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอรับจัดสรรงบกลางปี 67 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดงานฯ

ขณะที่ตลาดในประเทศทีเส็บ จะกระตุ้นการจัดงานภาครัฐ สัมมนาภาคเอกชน ยกระดับงานแสดงสินค้า/เทศกาล ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และเป้าหมายการพัฒนาในพื้นที่ 4 ภูมิภาค (Flagship Events)

  • ภาคกลาง งาน International Firework Festival พัทยา งาน Night at the Museum กรุงเทพฯ งานปราการ เฟสติวัล (Live Exhibition) จ.สมุทรปราการ งาน Harmony World Puppet Festival จ.เพชรบุรี
  • ภาคอีสาน งานเทศกาลบ้านเชียง จ.อุดรธานี, งาน Khaoyai Clay Craft Creation 2024  จ.นครราชสีมา, งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี
  • ภาคเหนือ งานเทศกาลยี่เป็ง  จ.เชียงใหม่, งาน Phitsanulok the city of Recycling จ.พิษณุโลก, The International Conference LIMEC Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor
  • ภาคใต้ งานเทศกาล Awakenest Festival เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี งานประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร (CoGs) จ.ภูเก็ต

ขณะเดียวกัน ทีเส็บยังเน้นการสื่อสารการตลาด ได้แก่ การ Rebranding Thailand as high value added destination: The new chapter of Thailand MICE Thailand VISA Card โดยได้ลงนาม MOU กับพันธมิตรระดับโลกบริษัท Visa Worldwide Pte. Limited เพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ระยะเวลา 3 ปี (ปี 2566- 2568)

โดยเป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่นำเสนอสิทธิพิเศษของสินค้าและบริการต่างๆ ผ่านบัตร Thailand MICE Visa Prepaid Card สร้างรายได้ให้แก่ทีเส็บ ซึ่งเป็นรายได้จากการเรียกเก็บอัตราค่าธรรมเนียมบัตร ใบละ 300 บาท คาดว่าจะเริ่มโครงการในเดือน ก.พ. 2567 และจัดการแถลงข่าวในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2567

อีกทั้งทีเส็บยังจะเน้นอำนวยความสะดวก และลดอุปสรรคการจัดงาน อาทิ ยกระดับการให้บริการไมซ์ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับบริการไมซ์เลน สู่ Premium Service อำนวยความสะดวกในการขออนุญาตใช้พื้นที่จัดกิจกรรมพิเศษ จัดตั้งคณะทำงานระดับกระทรวง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการอำนวยความสะดวก ผลักดันการเพิ่มศักยภาพการบิน รองรับตลาดเป้าหมายหลัก เช่น อินเดีย

ทั้งหมดล้วนเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ตลอดทั้งปีนี้