ททท.ปั้น “พะเยา” เพชรเม็ดใหม่ บูมท่องเที่ยวเมืองรองภาคเหนือ

19 มี.ค. 2567 | 23:20 น.

ททท.หาทางปั้น “พะเยา” เพชรเม็ดใหม่ บูมการท่องเที่ยวเมืองรองภาคเหนือตอนบน หลังนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” ยกคณะครม.สัญจร พร้อมหนุนดึงเที่ยวบินรับสนามบินใหม่ ดันเส้นทางเชื่อมหลวงพระบาง

KEY

POINTS

  • ททท. ปั้นจังหวัดพะเยา ยกระดับจากเมืองท่องเที่ยวรองเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก หลังนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงพื้นที่จัดประชุม ครม.สัญจร เบื้องต้นพิจารณาศักยภาพแล้วสามารถผลักดันได้
  • แผนงานสำคัญอย่างหนึ่งหลังนโยบายรัฐบาลพร้อมผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบินพะเยา มูลค่ากว่า 4,421 ล้านบาท ททท. เตรียมทำแผนรองรับดึงเที่ยวบินขนาดเล็กเข้ามาทำการบินมายังจังหวัดพะเยาในอนาคต
  • จัดตรียมเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน พบข้อมูลจากพะเยาไปหลวงพระบางใช้เวลาสั้นที่สุดเมื่อเทียบกับหลาย ๆ เส้นทาง พร้อมหาทางส่งเสริม เช่นเดียวกับเส้นทางรองรับรถไฟทางคู่ที่กำลังจะเสร็จปี 2567
  • รัฐบาลเอาจริง ประชุมครม.สัญจร สั่ง ททท. พิจารณาจัดตั้งสำนักงาน ททท. จังหวัดพะเยา เป็นสำนักงานแห่งใหม่ขึ้น ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 พร้อมดันเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.กำลังหาทางส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา เพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงพื้นที่จัดประชุม ครม.สัญจร และประกาศผลักดันให้จังหวัดพะเยายกระดับจากเมืองท่องเที่ยวรองเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักได้ในอนาคต ซึ่งเบื้องต้น ททท. พิจารณาศักยภาพแล้วสามารถผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายได้

ทั้งนี้จากการพิจารณาการท่องเที่ยวของ จังหวัดพะเยา พบว่ามีความน่าสนใจที่หลากหลาย ทั้งเรื่องวัฒนธรรม อาหารถิ่น และการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา โดย ททท. จะหาช่องทางการส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันระหว่างเชียงใหม่-เชียงราย-พะเยา หรือ พะเยา-แพร่-น่าน เพื่อเพิ่มความหลากหลายของกิจกรรมการท่องเที่ยว และจะพยายามดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่แค่หลักหมื่นคนเท่านั้น และมีสัดส่วนไม่ถึง 10% 

“ศักยภาพของพะเยาสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวได้อีกมาก เพราะมีความหลากหลาย เช่น การผลักดันอาหารถิ่นสู่มิชลินสตาร์โดยต่อยอดซาลาเปาพญาลอ หรือลิ้นจี่แม่ใจที่เป็นอาหารและผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัด หรือการทำเส้นทางท่องเที่ยวสายศรัทธา เชื่อมโยงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในจังหวัด เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งที่นี่มีความพร้อมทั้งสถานพยาบาล และบ่อน้ำพุร้อนดี ๆ หรือการส่งเสริมการจัดเทรลในจังหวัด เป็นการท่องเที่ยวเชิงกีฬาก็ได้” ผู้ว่าฯ ททท. ระบุ

 

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ดันเที่ยวบินเล็กรับสนามบินใหม่

นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในส่วนของการสนับสนุนการท่องเที่ยวรองรับโครงการก่อสร้างสนามบินพะเยา มูลค่ากว่า 4,421 ล้านบาท ซึ่งทางจังหวัดพะเยาอยู่ระหว่างการผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นในอนาคตนั้น เห็นว่า การก่อสร้างสนามบินไม่คำตอบในเรื่องการท่องเที่ยวทั้งหมด

โดยเรื่องที่สำคัญไปกว่านั้นนั่นคือ การดึงให้มีสายการบินเข้ามาทำการบิน และอาจไม่จำเป็นต้องดึงสายการบินขนาดใหญ่มาลงก็ได้ โดยเริ่มจากการดึงสายการบินขนาดเล็กเข้ามาทำการบินก่อน

ล่าสุด ททท. เตรียมหารือกับสายการบิน “อีซี่ แอร์ไลน์” (Ezy Airlines) ซึ่งเป็นสายการบินขนาดเล็กรายใหม่ที่กำลังขอใบอนุญาต และน่าจะได้ภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ โดยระยะแรกสายการบินนี้จะใช้สนามบินหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการบิน เพื่อทำการบินไปยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเมืองปีนังของมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นโอกาสหากจะดึงเข้ามาทำการบินในสนามบินของเมืองรอง โดยเฉพาะสนามบินพะเยาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

 

ภาพประกอบข่าว การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองสู่เมืองหลัก จังหวัดพะเยา

เชื่อมเส้นทางเที่ยวหลวงพระบาง

นางสาวสมฤดี กล่าวว่า ททท.ยังมองเห็นโอกาสทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านของจังหวัดพะเยา โดยเฉพาะเส้นทางการท่องเที่ยวจากด่านชายแดนบ้านฮวก ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ไปยังเมืองหลวงพระบางของ สปป.ลาว เป็นเส้นทางที่เดินทางไปสั้นที่สุด ประมาณ 200 กิโลเมตร ซึ่งมองเห็นศักยภาพแล้วพบว่า สามารถผลักดันให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันได้

ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบข้อมูลการท่องเที่ยวของพะเยา ยังพบข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งความน่าสนใจของนักท่องเที่ยวจากตลาดอิสราเอลนั้น เป็นกลุ่มที่ชอบแสวงหาเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ โดยเฉพาะเมืองรอง ดังนั้นถ้าส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวจากพะเยาไปถึงหลวงพระบางได้ จะส่งผลให้พะเยากลายเป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านได้ในทันที

“การทำให้พะเยาเป็นฮับเชื่อมไปหลวงพระบางสามารถเกิดขึ้นได้ แต่สิง่ที่สำคัญคือต้องให้รัฐบาลเร่งเจรจากับทางรัฐบาล สปป.ลาว จัดทำจุดตรวจคนเข้าเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ 3 ที่ต้องการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวได้ด้วย จากปัจจุบันที่จะให้ผ่านเฉพาะชาวไทยและลาวเท่านั้น ซึ่งในการเดินทางมาของนายกฯ ลงพื้นที่พะเยารอบนี้ก็น่าจะมีการหารือถึงเรื่องดังกล่าว เพื่อช่วยทำให้พะเยามีความน่าสนใจท่องเที่ยวมากขึ้น” รองผู้ว่าฯ ททท. ระบุ

 

ภาพประกอบข่าว การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองสู่เมืองหลัก วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา

 

รอปั้นเส้นทางเที่ยวรับรถไฟทางคู่

พร้อมกันนี้ ททท.ยังเห็นโอกาสการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของพะเยาในอนาคต หลังจากโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571 โดยมีเส้นทางผ่านมายังพะเยาด้วย โดยน่าจะช่วยทำให้การเดินทางท่องเที่ยวมีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะเส้นทางนี้เชื่อว่าจะมีทัศนียภาพสองข้างทางที่เป็นภูเขาที่สวยงาม แต่ในเบื้องต้น ททท. อาจต้องรอให้โครงการเสร็จก่อนจะสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวต่อไป

นางสาวสมฤดี กล่าวด้วยว่า ตามแผนการพัฒนาจังหวัดพะเยา ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมครม.สัญจร วันที่ 19 มีนาคม 2567 ทางจังหวัดตั้งใจผลักดันให้พะเยาเป็นเมืองเวลเนส (Wellness) และเกษตรเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน หากพะเยาทำได้สำเร็จตามแผน ททท.เชื่อว่าจะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น

ตั้งสำนักงาน ททท. พะเยา

ล่าสุดเพื่อขับเคลื่อนการทำงานด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จังหวัดพะยา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ก็ได้มีมติอนุมัติให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พิจารณาจัดตั้งสำนักงาน ททท. จังหวัดพะเยา เป็นสำนักงานแห่งใหม่ขึ้น โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 นี้ 

พร้อมทั้งให้มีการศึกษาเพื่อประกาศให้จังหวัดพะเยาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวให้เข้าสู่จังหวัดพะเยามากขึ้น และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายให้มีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

อนุสาวรีย์พ่อขุนงําเมือง จังหวัดพะเยา

 

ปัจจุบันสถานการณ์ท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา ในปี 2566 พบว่า มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนรวม 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 966,706 คน ขณะที่ชาวต่างชาติมีด้วยกัน 42,942 คน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 2,292 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากตลาดไทยเที่ยวไทย 2,158 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากต่างชาติอยู่ที่ 133 ล้านบาทเท่านั้น โดยวันพักเฉลี่ย 2.19 วัน และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2,270 บาทต่อคนต่อทริป