Gen 2 “อโมรา กรุ๊ป” ติดปีกแบรนด์โรงแรมไทย ผงาดลงทุนออสเตรเลีย

18 พ.ค. 2567 | 01:07 น.
อัพเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2567 | 01:33 น.

Gen 2 “อโมรา กรุ๊ป” ผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตอิสระ ระดับ 4-5 ดาวสัญชาติไทย ติดปีกแบรนด์โรงแรมไทย ผงาดลงทุนในออสเตรเลีย ทั้งรุกขยายโรงแรมในไทย ตั้งเป้าขยายโรงแรมในพอร์ตโฟลิโอรวมกว่า 10 แห่งใน 5 ปีนี้ จากปัจจุบันมีอยู่ 6 แห่ง รวมห้องพักกว่า 1,350 ห้อง

อโมรา กรุ๊ป (Amora Group) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตอิสระ ระดับ 4-5 ดาวสัญชาติไทย ที่หลังจากไปปักหมุดลงทุนโรงแรมแห่งแรกในออสเตรเลีย จนก้าวสู่ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นใหม่ “เชาวภัทร์ สิริภัทราวรรณ” ก็ได้ต่อยอดสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าขยายโรงแรมในพอร์ตโฟลิโอรวมกว่า 10 แห่งใน 5 ปีนี้ จากปัจจุบันมีอยู่ 6 แห่ง รวมห้องพักกว่า 1,350 ห้อง

เชาวภัทร์ สิริภัทราวรรณ” เจ้าของและกรรมการ อโมรา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ต เปิดใจถึงจุดเริ่มต้นของ อโมรา กรุ๊ป ว่ามาจากคุณพ่อ (ดร.ธนพันธ์ สิริภัทราวรรณ) ซึ่งทำธุรกิจดิวตี้ฟรีในไทย คือ บริษัท แอร์พอร์ต ดิวตี้ฟรี จำกัด ดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรี ที่สนามบินดอนเมืองมาก่อน ต่อมาท่านได้ไปเรียนปริญญาเอกที่ออสเตรเลีย และมีความชอบโรงแรมมาตั้งแต่เด็ก  พอท่านมองโรงแรมต่างๆก็คิดว่าวันหนึ่งถ้ามีเงินก็อยากทำโรงแรมบ้าง

เชาวภัทร์ สิริภัทราวรรณ

เมื่อเห็นโอกาสก็เลยซื้อโรงแรมแห่งแรกที่เมลเบิร์น เมื่อปี 2540 ใช้ชื่อว่า “โรงแรมอโมรา ริเวอร์วอล์ค เมลเบิร์น” ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงต้มยำกุ้ง การลงทุนในไทยลำบาก จึงไปลงทุนที่ออสเตรเลีย จากนั้นในปี 2542 คุณพ่อจึงกลับมาเปิดโรงแรมอโมรา ภูเก็ต ขยายการลงทุนโรงแรมอโมรา ต่อใน ซิดนีย์ เชียงใหม่ และกรุงเทพ ซึ่งอโมรา ภาษาสเปน (Amor) แปลว่าความรัก ซึ่งท่านสร้างโรงแรมเพื่อสื่อถึงความรักที่มีต่อคุณแม่ (อมรรัตน์ สิริภัทราวรรณ)

Gen 2 “อโมรา กรุ๊ป” ติดปีกแบรนด์โรงแรมไทย ผงาดลงทุนออสเตรเลีย

หลังจากคุณพ่อเสีย เราก็เอาธีมนี้มาพัฒนาต่อ ด้วยความที่เราเป็นธุรกิจครอบครัว พนักงานทุกคนเหมือนครอบครัว เราสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานรักลูกค้าเหมือนครอบครัวเดียวกัน จำคนที่มาพักและรู้ว่าเขาชอบอะไร จะทำให้มีแรงดึงดูดให้คนกลับมาพัก ให้ลูกค้าได้รับบริการที่มีประสบการณ์เหมือนกับที่พนักงานบริการเจ้าของเมื่อเวลามาพักที่โรงแรม

การเข้ามารับช่วงต่อในกลับมาบริหารธุรกิจโรงแรมของเขา เริ่มขึ้นเมื่อช่วงเกิดโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มปิดประเทศ จากหนุ่มแบงก์ ที่ทำด้านอินเวสเม้นท์  มาทำธุรกิจฟูลไทม์ในครอบครัว ร่วมกับพี่สาวคนโต คนกลาง และคุณแม่ ด้วยแบล็คกราวน์ด้านการลงทุนที่มี ประกอบกับทักษะที่เคยฝึกงานโรงแรมในสมัยเด็ก ก็ทำให้เขามีมุมมองในการต่อยอดธุรกิจ โดยต้องการเปลี่ยนกลยุทธในการทำธุรกิจ โดยมองถึงการลงทุน เพื่อขยายการเติบโต ไม่ใช่การปล่อยให้ธุรกิจ Stable หรือแค่อยู่ตัวเท่านั้น

Gen 2 “อโมรา กรุ๊ป” ติดปีกแบรนด์โรงแรมไทย ผงาดลงทุนออสเตรเลีย

เพราะตั้งแต่ปี 2540-2543  จนถึงช่วงโควิดเห็นชัดเจนว่าคนที่อยู่นิ่งๆตามน้ำไป ในขณะที่การแข่งขันสูง จะอยู่ยาก เราต้องสวนกระแสและมองโอกาสใหม่ๆในการขยายธุรกิจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นตลาด Red Ocean หรือ Blue Ocean ทุกอย่างก็มีโอกาสให้เราเติบโตได้เสมอ ต้องมีความแตกต่าง ซึ่งในอนาคตก็มองว่าภายใน 5 ปี อยากได้ 10 โรงแรมให้ครบ พอถึง 10 โรงแรม ผมก็จะเริ่มทำซับแบรนด์ ในการแยกความแตกต่างของโปรดักซ์ที่เราจะสร้างขึ้นในอนาคตอีกด้วย 

“หลังผมกลับมาบริหารธุรกิจให้ครอบครัว ผมก็ได้ตัดสินใจลงทุนใหญ่ๆไปแล้วใน 2 โรงแรม ที่ผมมั่นใจว่าการลงทุนไปจะได้เงินกลับมา คือ การซื้อโรงแรมโนโวเทลที่บริสเบน ขนาด 300 ห้องเมื่อปี 2564  ซึ่งซื้อในช่วงโควิด ก็ได้ราคาดี  และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงแรม อโมรา บริสเบน” พอซื้อมาผ่านไป 6 เดือน ทางรัฐบาลก็ประกาศจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก ในปี 2575 ที่บริสเบน ตอนนี้มูลค่าที่ดินก็เพิ่มขึ้นมาก

ทั้งผมเองก็ตั้งเป้าว่าจะซื้อโรงแรมที่เพิร์ธ เนื่องจากมีบริษัทน้ำมันตั้งอยู่เยอะ และ แอดิเลด ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองไวน์ เพื่อเพิ่มจำนวนโรงแรมในออสเตรเลีย จากปัจจุบัน 3 แห่งเพิ่มเป็น 5 แห่งภายใน 5 ปีนี้ โดยการเข้าไปลงทุนผมจะมองการซื้อโรงแรม ที่จะมองที่ดินเฉพาะ Freehold ในทำเลที่เหมาะสม แล้วนำมารีโนเวท เนื่องจากเปิดให้บริการได้เร็ว และในระหว่างรีโนเวท ก็ยังขายได้ทำให้มีกระแสเงินสดเข้ามา ”

การที่คุณเชาวภัทร์ มองที่จะขยายโรงแรมใหม่เพิ่มในออสเตรเลีย เนื่องจากธุรกิจโรงแรมเติบโตดี อัตราการเข้าพักเฉลี่ยจะอยู่ที่ 80% ขึ้นไป โดยตลาดส่วนใหญ่ของอโมรา เป็นคอร์ปอเรต มีลูกค้าโดเมสติกมาก ดังนั้นไม่จะเกิดสงครามหรือปัจจัยภายนอก การทำธุรกิจหรือประชุมระหวางเมืองก็ยังมีการเดินทางอยู่ และด้วยโรงแรมอยู่ในย่าน CBD ก็ได้รับการตอบรับดี

การลงทุนที่ออสเตรเลีย แม้จะใช้เวลาในการคืนทุนนานกว่าการลงทุนในไทย เพราะที่ดินแพงกว่า อัตราผลตอบแทนในการลงทุน ( Yield) ที่คาดหวังได้อยู่ที่ 8-10% ต่างจากการลงทุนในไทยที่คาดหวังผลตอบแทนในการลงทุนในระดับดับเบิ้ล ดิจิต แต่ต้องแลกมาพร้อมกับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่มากกว่า

นอกจากนี้เขายังได้ลงทุนรีโนเวทใหญ่โรงแรมอโมรา บีช รีสอร์ต ภูเก็ต มูลค่าการลงทุนกว่า 500 ล้านบาทในช่วงโควิด ใช้เวลารีโนเวทกว่า 2 ปี และเพิ่งเปิดให้บริการโฉมใหม่ไปเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยปรับโฉมให้โมเดิร์น ก้าวสู่ความเป็นโรงแรม 5 ดาว โดยทำล็อบบี้ ห้องพัก สระว่ายน้ำ ห้องอาหารใหม่หมด เพิ่มห้องประชุม และบีชคลับ รองรับเทรนด์นักทอ่งเที่ยวรัสเซีย จีน อาหรับ ที่ชอบบีชคลับ โดยเฉพาะเราอยู่ในโลเคชั่นหาดบางเทา นักท่องเที่ยวก็ยอมจ่าย

อโมรา ภูเก็ต

ขณะเดียวกันเขายังมองที่ลงทุนขยายโรงแรมแห่งใหม่อีก 1 แห่งในย่านสุขุมวิท กรุงเทพฯด้วย โดยจะสร้างให้เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวที่จะเป็นอีกหนึ่งแฟล็กชิพของอโมรา ซึ่งด้วยความที่เรามีฐานลูกค้าเป็นตลาดออสเตรเลียอยู่แล้ว เพราะแบรนด์อโมรา อยู่กับออสเตรเลียมานานกว่า 20 ปี เราไม่ใช่แบรนด์ใหม่ ก็สามารถดึงมาพักในระหว่างเข้ามาทำธุรกิจหรือท่องเที่ยวในไทยได้

รวมถึงมองการขยายการลงทุนโรงแรมในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มเติม มองไว้ที่สมุย หรือ กระบี่ รวมถึงเริ่มมองการขยายไปประเทศอื่น อาทิ ฝั่งเอเชียแปซิฟิก ,อาเซียน เช่น เวียดนาม ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศเราก็มองว่าไม่จำเป็นต้องนำเงินของเราไปซื้อกิจการเท่านั้น อาจจะเป็นการร่วมทุนก็ได้

สุดท้ายคุณเชาวภัทร์ ย้ำว่า “จากการทำธุรกิจแบงก์ หันมารับช่วงต่อธุรกิจโรงแรมของครอบครัว สำหรับผมว่าทุกธุรกิจที่มีความคืบหน้า มันเป็นธุรกิจที่สนุก อีกอย่างคือมันเป็นธุรกิจครอบครัว ความสำคัญในการสร้าง Legacy อันเป็นมรดกของครอบครัว และต่อยอดจากที่คุณพ่อผมทำมา มันก็ไม่ได้รู้สึกว่าเสียดายอาชีพในแบงก์ที่เคยทำ และเราก็จะยังคงสร้างแบรนด์อโมรา ให้เป็นแบรนด์ไทยต่อไป

ดังนั้นจะเห็นว่าโรงแรมในออสเตรเลียที่เราซื้อมาจากที่เขาเคยใช้เชน เราก็เปลี่ยนมาใช้อโมรา ที่ก็ไปได้ดีเพราะอยู่ในตลาดมานาน  พร้อมนำจุดแข็งที่เรามีมาต่อยอดธุรกิจต่างๆที่มีอยู่เดิมและจะเกิดขึ้นใหม่ได้ ซึ่งการจะปักหมุดลงทุนหรือขยายแบรนด์อโมรา โดยการรับบริหารที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราต้องมองแล้วว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มหรือ Value Added ให้แก่ธุรกิจได้