"สายการบิน"ค้านปรับลดเพดานราคา ค่าตั๋วเครื่องบินในประเทศ

05 พ.ค. 2567 | 08:39 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2567 | 09:07 น.

สายการบินค้านรัฐจ่อปรับลดเพดานค่าโดยสารตั๋วเครื่องบินเส้นทางบินในประเทศ ยันสวนทางกับต้นทุนของธุรกิจที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ชี้หลังโควิดทำให้ราคากลับมาสู่ภาวะสมดุล เป็นไปตามกลไกตลาด โดยที่ไม่เกินอัตราเพดานราคากำหนดไว้ ด้านกพท.เร่งหาข้อสรุปก่อนเสนอ กบร.พิจารณา

จากกรณีที่กระทรวงคมนาคม ได้สั่งให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท.ทบทวนการปรับเพดานค่าโดยสารลง เพื่อแก้ปัญหาตั๋วแพง โดยให้กพท.หารือกับสายการบินภายในประเทศ เพื่อหาข้อสรุปรวมถึงแนวทางในการปรับราคาเพดานลง

ต่อเรื่องนี้นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บางกอกแอร์เวย์ส” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าสายการบินไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะปรับลดเพดานราคาค่าโดยสารขั้นสูงลง จากเพดานราคาในปัจจุบัน 

เนื่องจากราคาตั๋วเครื่องบินที่ขายกันอยู่ในขณะนี้ ยังอยู่ในกรอบอัตราค่าโดยสารเครื่องบินที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ( CAAT) หรือ กพท.กำหนดไว้ โดยมีเพดานค่าโดยสารสูงสุด (ต่อเที่ยวบิน) อยู่ที่ไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร สำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ และไม่เกิน 13 บาท ต่อกิโลเมตร สำหรับสายการบินที่ให้บริการแบบฟูลเซอร์วิส 

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

จากอัตราค่าโดยสารดังกล่าว ผมมองว่าสายการบินยังเคลื่อนไหวในกรอบนี้ได้อยู่ แต่บางช่วงเวลาในบางเส้นทางบินอาจจะขึ้นไปอยู่ในกรอบเพดานราคาขั้นสูงบ้าง เช่น เส้นทางบินสู่ภูเก็ต ซึ่งเพดานราคานี้ ได้กำหนดมานานมากแล้วจากการคำนวณต้นทุนของสายการบินที่เกิดขึ้นในอดีต และที่ผ่านมาก็ไม่เคยปรับขึ้นเลย 

สวนทางกับต้นทุนของธุรกิจที่สูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ถ้าจะมาลดเพดานราคาขั้นสูงลงอีก สายการบินก็คงอยู่ในสถานะลำบาก เพราะจริงๆธุรกิจสายการบินไม่ได้มีกำไรมากเลย หากเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Jet A-1) ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่ขณะนี้ผันผวนอยู่ในระดับ 110-120 บาทต่อบาเรล

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่าการที่หลายคนอาจจะรู้สึกว่าตั๋วเครื่องบินตอนนี้แพง หากจะมองในตามข้อเท็จจริง ผมมองว่าเกิดจากความคุ้นเคยของผู้โดยสารที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560-2562 ที่ตอนนั้นธุรกิจสายการบินมีการต่อสู้กันสูงมาก เพราะซัพพลายในตลาดเยอะ มีการตัดราคาแข่งกันขายตั๋วถูก ราคาถูกจนไปสร้างความเดือนร้อนให้กับรถทัวร์และรถไฟด้วยซ้ำ 

แต่ก็ต้องบอกว่าช่วงนั้นสายการบินแทบจะไม่มีกำไร เพราะขายกันเท่าทุน หรือน้อยกว่าทุน เพื่อดึงผู้โดยสาร ผมต้องขอบคุณโควิด-19 ด้วยซ้ำที่เข้ามาเบรก ทำให้ทุกคนกลับมาคิดใหม่ว่าการขายราคานั้นมันเป็นไปไม่ได้ท่ามกลางค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นทำแบบนั้นก็แข่งกันตาย 

ประกอบกับการแข่งขันในตลาดการบินที่ลดลง เนื่องจากมีดีมานด์ความต้องการในการเดินทางสูง แต่ซัพพลายยังไม่กลับมา 100% เท่ากับในอดีต ดังนั้นพอหลังโควิด-19 สายการบินก็ต้องมาคิดราคาที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ใช่ขึ้นราคาจนไล่ลูกค้า เพียงแต่ปรับให้ราคากลับมาสู่ภาวะสมดุล และราคาเป็นไปตามกลไกตลาด โดยที่ไม่เกินอัตราเพดานราคาที่กพท.กำหนดไว้

เพดานราคาค่าตั๋วเครื่องบิน เส้นทางบินในประเทศ

นอกจากนี้การที่หลายคนมองว่าทำไมเมื่อซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วราคาสูงเกินเพดานราคาที่กพท.กำหนดไว้นั้น ต้องบอกว่าราคาเพดานที่กำหนดไว้ เป็นเฉพาะราคาบัตรโดยสารสำหรับการเดินทาง (Air Fare) เท่านั้น ไม่ได้รวมค่าภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ค่าบริการอื่นๆ ที่นอกเหนือ

เพราะอย่างสายการบินต้นทุนต่ำ ถ้าผู้โดยสารจะเลือกใช้บริการเพิ่มเติม เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำหนักสัมภาระ ค่าประกัน ค่าเลือกที่นั่ง ก็ต้องจ่ายเพิ่ม หรือกรณีถ้าผู้โดยสารไม่ได้จองตั๋วโดยตรงกับสายการบิน แต่ไปจองผ่านทราเวล เอเย่นต์ ออนไลน์ (OTA) หรือเอเย่นต์ต่างๆ เขาก็จะบวกค่าบริการเพิ่มจากค่าตั๋วเครื่องบินด้วย จึงอยากให้ผู้โดยสารทำความเข้าใจในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วย

ด้านนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของบางกอกแอร์เวย์สว่า ในปี 2566 สายการบินมีรายได้ต่อหน่วยจากการผลิตด้านผู้โดยสาร (Revenue per ASK: RASK) อยู่ที่ 5.41 บาทต่อกิโลเมตร ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 5.14 บาทต่อกิโลเมตร จึงมีสัดส่วนกำไร เท่ากับ 0.27 บาทต่อ 1 กิโลเมตร เท่านั้น ซึ่งก็กำไรไม่มาก เพราะเราเป็นสายการบินฟูลเซอร์วิส และเพิ่งจะกลับมามีกำไร และหากเทียบกับปี 2562 จะพบว่าสายการบินมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 30% ทั้งจากราคาน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุงอากาศยาน ค่าบริการลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา

ขณะที่นายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนเเห่งประเทศไทย (กพท.) สายพัฒนาเศรษฐกิจการบิน เผยว่าในขณะนี้กพท.อยู่ระหว่างการจัดเก็บข้อมูลจากสายการบินต่างๆ ซึ่งยังเหลืออีก 1 สายการบินที่ยังไม่ได้ส่งมา เพื่อกพท.จะได้นำข้อมูลมาประเมินต้นทุนของสายการบิน 

จากนั้นกพท.จะนำข้อมูลมาพิจารณาหาข้อสรุปถึงความเหมาะสมว่าจะมีการปรับเพดานราคาค่าโดยสารขั้นสูงลงมาได้หรือไม่ ก่อนจะนำเสนอคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานพิจารณาต่อไป

“เราต้องดูด้วยว่าการที่ตั๋วเครื่องบินแพง ไม่ได้แพงตลอดทั้งปี จะแพงเฉพาะในช่วงพีคที่มีการเดินทางสูง หรือการจองตั๋วไม่ได้จองล่วงหน้า ในขณะที่จำนวนเครื่องบินมีบริการได้ไม่เท่าเดิมจากโควิด-19 ถ้าเราแก้ไขโดยกดราคาเพดานค่าโดยสารขั้นสูงลงมา ต่อไปสายการบินก็อาจจะลดการทำตั๋วราคาถูกลง เราก็ต้องดูด้วยว่าการแก้ปัญหาในแบบนี้จะกระทบไปสร้างปัญหาใหม่หรือจะแก้ปัญหาแบบไหนจะเหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุด” นายศรัณย กล่าวทิ้งท้าย