โรงแรมภาคตะวันตก แนะรัฐทบทวนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ขอเวลา 2 ปี

13 พ.ค. 2567 | 06:44 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2567 | 07:03 น.

นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก มองรัฐบาลดันนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน โดยเสนอให้ชะลอไปอีก 2 ปี เพื่อทบทวนให้ภาคเอกชนสามารถปรับตัวกับต้นทุนได้

นายวสันต์ กิตติกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก และผู้จัดการทั่วไปโรงแรมลองบีช ชะอำ และโรงแรมธารามันตรา ชะอำ รีสอร์ท จ.เพชรบุรี เปิดเผยถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ว่า สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก อยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายอีกครั้ง โดยชะลอขึ้นค่าแรงไปอีก 2 ปี เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถปรับตัวกับต้นทุนได้ เพราะถ้าปรับเพิ่มขึ้นมาแบบก้าวกระโดดจะทำให้เอกชนได้รับผลกระทบอย่างหนักแน่นอน

"นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศครั้งนี้ จะเป็นข่าวดีกับลูกจ้าง พนักงาน แต่เจ้าของกิจการจะได้รับผลกระทบหนัก เพราะต้องแบกรับดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายและถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ทบทวน" นายวสันต์ ระบุ

สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวและที่พักของภาคตะวันตกนั้น หากพิจารณาเฉพาะ 2 จังหวัด คือ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่า อัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ 100% โดยในปี 2566 ฟื้นกลับมาได้ประมาณ 60-70% เท่านั้น ดังนั้นถ้านโยบายรัฐบาลมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศอีห จะทำให้ธุรกิจโรงแรมที่พักในพื้นที่ได้รับผลกระทบแน่นอน

ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศนั้น ที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยอมรับว่า กระทรวงแรงงานพร้อมสนับสนุนให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ หลังจากนำร่องไปแล้วในกลุ่มธุรกิจโรงแรมใน 10 จังหวัด โดยตั้งเป้าหมายเริ่มต้นพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้นัดหารือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งเป็นกลุ่มนายจ้าง เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ 

ขณะที่สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) มอง่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยได้มีการยื่นเอกสารข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 3 เรื่องหลักคือ

  1. สนับสนุนให้รัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ
  2. เสนอให้รัฐบาลมีการควบคุมราคาสินค้า อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัทพ์ ค่าน้ำมันให้มีราคาที่เหมาะสมรวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ 
  3. เสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเป็นค่าจ้างแรกเข้าทำงาน 

อย่างไรก็ตามนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ระบุว่า ขั้นตอนของการปรับค่าจ้างขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจและศึกษาข้อมูล โดยมอบหมายให้แรงงานจังหวัดหารือกับผู้ประกอบการ ก่อนนำข้อมูลมาพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละจังหวัด จากนั้นจึงนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ต่อไป