สารพัดปัจจัยลบ “ไทยเที่ยวไทย” ส่อพลาดเป้า 1 ล้านล้าน

05 พ.ย. 2567 | 03:37 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ย. 2567 | 03:45 น.

การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของไทย ในปี 2567 นี้ ล่าสุดในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีความเป็นไปได้ว่าตลอดทั้งปีนี้ ไทยเที่ยวไทย จะทะลุ 200 ล้านคน-ครั้ง แต่ในแง่ของรายได้ มีแนวโน้มว่าจะไม่ถึงเป้าหมาย 1 ล้านล้านบาท จากสารพัดปัจจัยลบรุมเร้าที่เกิดขึ้น

ภาพรวมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทย ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (วันที่ 1 มกราคม-30 กันยายน 2567) อยู่ที่ 148.02 ล้านคน-ครั้ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.98 % เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ราว 702,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.63 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทิศทางท่องเที่ยวไทย ปี 2567

จังหวัดที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุด 10 อันดับแรก

  • กรุงเทพฯ 22.5 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 127.8 ล้านบาท
  • ชลบุรี 11 ล้านคน รายได้ 7.4 หมื่นล้านบาท
  • กาญจนบุรี 10.9 ล้านคน รายได้ 2.49 หมื่นล้านบาท
  • ประจวบคีรีขันธ์ 8.1 ล้านคน รายได้ 3.19 หมื่นล้านบาท
  • เพชรบุรี 8.1 ล้านคน รายได้ 2.47 หมื่นล้านบาท
  • พระนครศรีอยุธยา 6.6 ล้านคน รายได้ 1.41 หมื่นล้านบาท
  • นครราชสีมา 6 ล้านคน รายได้ 1.14 หมื่นล้านบาท
  • เชียงใหม่ 5.5 ล้านคน รายได้ 4.7 หมื่นล้านบาท
  • สุพรรณบุรี 4.9 ล้านคน รายได้ 7.9 พันล้านบาท
  • สมุทรสงคราม 4.8 ล้านคน รายได้ 5.2 พันล้านบาท

ไทยเที่ยวไทยทะลุ 200 ล้านคน-ครั้ง แต่รายได้พลาดเป้า 

ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากการประเมินของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และภาคเอกชนท่องเที่ยวไทย จึงคาดว่ามีแนวโน้มที่ในปีนี้คนไทยจะเที่ยวในประเทศทะลุ 200 ล้านคน-ครั้งแน่นอน มีโอกาสลุ้นที่ 230 ล้านคน-ครั้ง เพราะเหลือการเดินทางอีกแค่ 52 ล้านคน-ครั้ง ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่คนไทยเดินทางเที่ยวมากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นเป็นช่วงปิดเทอม เทศกาลหลักๆ อย่างลอยกระทง และปีใหม่ รวมถึงการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวของททท.และภาคเอกชนต่อเนื่อง จะเป็นแรงหนุนให้คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศมากกว่าปกติ จากเฉลี่ยที่ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีการเดินทางเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 16 ล้านคน-ครั้งต่อเดือน

ไทยเที่ยวไทย

แต่ในแง่ของการสร้างรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยในปีนี้ ที่ตั้งเป้าไว้ 1 ล้านล้านบาท ดูแนวโน้มแล้ว ไม่น่าจะ ทำได้ตามเป้าหมาย โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 9.5-9.7 แสนล้านบาทนั้น

เนื่องจากคนไทยแม้จะยังเดินทางท่องเที่ยวอยู่ แต่การใช้จ่ายเฉลี่ยไม่สูง เพราะคนระมัดระวังในการใช้จ่าย จึงลดจำนวนวันท่องเที่ยวและลดการใช้จ่ายลง โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริปอยู่ที่ 3,000 บาทต่อทริปต่อคน

เปิด 7 ปัจจัยลบรายได้ไทยเที่ยวไทย ส่อพลาดเป้าหมาย 1 ล้านล้าน

ปัจจัยที่ทำให้รายได้ไทยเที่ยวไทยในปีนี้ มีแนวโน้มจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เกิดจาก 7 ปัจจัยหลัก ได้แก่       

1.ค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ส่งผลให้ประชาชนมีกำลังซื้อน้อย และใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยการลดจำนวนวันท่องเที่ยว และหันไปเดินทางท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับมากขึ้น

2. ความผันผวนของราคาพลังงาน ซึ่งคนไทยกว่า 80% นิยมขับรถยนต์เที่ยวเอง ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และหันมาเที่ยวระยะใกล้แทน

สารพัดปัจจัยลบ “ไทยเที่ยวไทย” ส่อพลาดเป้า 1 ล้านล้าน

3. ความต้องการออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทย เนื่องจากต้องการสัมผัสอากาศ วัฒนธรรม อาหารที่ไม่สามารถทำได้ในประเทศไทย รวมทั้งต้องการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ

ประกอบกับค่าเงินต่างประเทศที่อ่อนค่า โดยเฉพาะเงินเยน ทำให้ยิ่งกระตุ้นให้คนไทยเลือกที่จะไปเที่ยวญี่ปุ่น รวมถึงกระแสความสนใจในการซื้อ Art Toy ของคนไทยในหลายประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ก็เป็นแรงจูงใจให้คนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

4. ความคุ้มค่าต่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกับต่างประเทศ เนื่องจากบัตรโดยสารเครื่องบินภายในประเทศ และค่าโรงแรมที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวหลักบางจังหวัดมีราคาเทียบเท่ากับการไปต่างประเทศ ทำให้คนไทยตัดสินใจไปเที่ยวต่างประเทศมากกว่า

5. การส่งเสริมการตลาดจากประเทศที่เป็นจุดหมายยอดนิยมของคนไทย อาทิ ประเทศจีนให้ฟรีวีซ่าท่องเที่ยวกับนักท่องเที่ยวไทย, การทำโปรโมชั่นราคาบัตรโดยสารระหว่างประเทศของสายการบินต่างๆ

เช่น ฮ่องกงแอร์ไลน์และคาเธย์แปซิฟิก เส้นทางกรุงเทพฯ-ฮ่องกง, แอร์เจแปน เส้นทางกรุงเทพฯ-โตเกียว นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแพ็กเกจโรงแรมที่พัก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย

6. การเปิดเส้นทางบินใหม่จากประเทศไทยไปสู่ประเทศต่าง อาทิ สายการบินแอร์เอเชีย เปิดเส้นทางดอนเมือง-ปักกิ่ง วันละ 1 เที่ยวบินทุกวัน

7. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะปรากฎการณ์คลื่นความร้อน (เอลนีโญ) เหตุแผ่นดินไหว น้ำท่วมใหญ่ ภัยแล้ง รวมทั้งฝุ่น PM 2,5 ซึ่งมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สิน ปัญหาสุขภาพ และความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยว

ททท.เร่งแก้เกมส์ขยายวันพัก ดันกระจายเที่ยวเมืองรอง

นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ (ตุลาคม-ธันวาคม 2567) ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 ททท.มีเป้าหมายเพิ่มวันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวไทย จาก 2.5 วัน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000 บาทต่อทริป เป็น 3 วัน เพิ่มการใช้จ่ายเฉลี่ยเป็น 3,500 บาท-4,000 บาท ซึ่งรายได้รวมของการเดินทางเที่ยวในประเทศล่าสุดในปีนี้อยู่ที่ 7.68 แสนล้านบาทแล้ว

นิธี สีแพร

ตลอดทั้งปีนี้น่าจะสร้างรายได้อยู่ที่ 9.5-9.7 แสนล้านบาท ขณะที่การเดินทางเที่ยวในประเทศปีนี้ เกิน 200 ล้านคน-ครั้งแน่นอน และมีลุ้นได้ว่าอาจจะถึง 230 ล้านคน-ครั้ง สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 10%

อย่างไรก็ตามแม้จะมีปัจจัยเรื่องสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน น้ำท่วมในบางพื้นที่ จะเป็นปัจจัยท้าทาย แต่ททท.ก็จะดำเนินการออกแคมเปญและกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโค้งท้าย ขับเคลื่อนรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศตลอดทั้งปีนี้ให้ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย 1 ล้านล้านบาท

ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรม winter Festival ในช่วงปลายปี อย่างลอยกระทง วิจิตรเจ้าพระยา การร่วมกับภาคเอกชน จัดโปรโมชั่นต่างๆ การจัดอีเว้นท์ ด้านกีฬา เทศกาลดนตรี เทศกาลประเพณีต่างๆ อาทิ ลอยกระทง เคาท์ดาวน์ ทั่วไทย เป็นต้น

สารพัดปัจจัยลบ “ไทยเที่ยวไทย” ส่อพลาดเป้า 1 ล้านล้าน

นอกจากนี้ททท.ยังจะจัดแคมเปญย่อยๆออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น แคมเปญ “สุขท้าลอง 72 สไตล์” โดยจัดทำ E-book สุขท้าลอง 72 สไตล์ ที่คัดสรรค์เอกลักษณ์ต่างๆ ของเมืองไทย นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวที่สร้างจุดขายมุมมองใหม่ 72 เส้นทาง 72 สไตล์ จากเมืองน่าเที่ยวทั่วไทย

พร้อมเช็คลิสต์ 5 สิ่งที่ต้อง “ลอง” ในแต่ละเส้นทางตามแนวคิด 5 MUST DO IN THAILAND การจับกระแสตามรอยภาพยนตร์ อย่าง ตามรอยหนัง “ธี่หยด 2” เที่ยวอุตรดิตถ์ การตามรอยหมีเนย เที่ยวไทย ซึ่งหนีเนย จะพาเที่ยวรอบกรุง เที่ยวกรุงเก่า

การทำแคมเปญกระตุ้นการเดินทาง ผ่านการจับกระแสฮิปโปโปเตมัสแคระ น้อง “หมูเด้ง” ที่กำลังได้รับความนิยมมากทั้งในกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง

โดยจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างทางจาก 5 ภูมิภาค 5 เส้นทางทั่วประเทศ เพื่อไปหาน้องหมูเด้ง เน้นแนะนำแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจระหว่างทาง ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชื่อมโยงข้ามภูมิภาคให้มากขึ้นในแบบ 3 วัน 2 คืน

ทั้งททท.ยังจะเน้นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยเตรียมจะเปิดตัวแคมเปญ “สุขทันที ที่เมืองรอง” โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลการท่องเที่ยวและ 5 MUST DO IN THAILAND ในทั้ง 55 จังหวัดเมืองรองด้วย ผ่าน www.เมืองน่าเที่ยว.com ซึ่งสัดส่วนนักท่องเที่ยวระหว่างเมืองหลักและเมืองรองจะอยู่ที่ 70 : 30

การจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวสู่เมืองรอง จะต้องทำให้เมืองรองเป็นหลัก กระจายรายได้สู่เมืองรอง การพัฒนาเชิงกายภาพ สิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึง ซึ่งนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อยากให้เอกชนมาเป็นตัวนำ สร้างอีเว้นท์ต่อเนื่อง 1-2 ปี ในเมืองรอง เพื่อเพิ่มดีมานต์การท่องเที่ยวเมืองรองด้วย

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,042 วันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567