ท่องเที่ยว 9 เดือนฉลุย บิ๊กสายการบิน-โรงแรม โกยกำไรทะลุ 3 หมื่นล้าน

23 พ.ย. 2567 | 02:10 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2567 | 02:39 น.

บิ๊กธุรกิจท่องเที่ยวที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตีปีก จากผลประกอบการ 9 เดือนแรก ปี 2567 โกยกำไรทะลุ 3 หมื่นล้านบาท ทุกสายการบินกลับมาทำกำไร ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่กำไรพุ่ง บางส่วนขาดทุนลดลง ตีปีกเข้าสู่ไตรมาส 4 ไฮซีซัน เร่งขยายธุรกิจ รองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจสายการบิน และโรงแรมรายใหญ่ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต่างมีผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยับขึ้น จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะได้แรงหนุนจากมาตรการวีซ่าฟรี

สายการบิน-โรงแรม โกยกำไรทะลุ 3 หมื่นล้าน

ส่งผลให้ภาพรวมในธุรกิจสายการบินและโรงแรม ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ทำกำไรได้ไม่ต่ำกว่า 33,157 หมื่นล้านบาทา เพิ่มจากจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 29,265 ล้านบาท

ผลประกอบการ 9 เดือนแรก ปี 2567 ของธุรกิจสายการบิน-โรงแรม ในตลท.

ในส่วนของธุรกิจสายการบิน พบว่า 4 สายการบินหลักของไทย ต่างโกยกำไรถ้วนหน้า โดยภาพรวมช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจสายการบินของไทย มีกำไรรวมกว่า 22,982 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 19,768 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3,214 ล้านบาท

การบินไทย นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ส กำไรถ้วนหน้า 

สายการบินที่ทำกำไรสูงสุด คงหนี้ไม่พ้น “การบินไทย” ที่ทำรายได้สูงถึง 135,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.2% แม้จะกำไรน้อยลงจากปีที่ผ่านเล็กน้อย ซึ่งสาเหตุหลักการด้อยค่าทรัพย์สินแอร์บัส A380-800  อีกทั้งในช่วง 9 เดือนการบินไทยได้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้วรวมกว่า 3,531 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทุน คาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2568  

การบินไทย

ตามมาด้วย “บางกอกแอร์เวย์ส” โดยสายการบินมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นกว่า 10.3 % มีรายได้รวม 20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.5 % ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางโดยอากาศยานของทุกภูมิภาคทั่วโลกจากช่วงที่ผ่านมาที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เติบโตจากสัดส่วนของรายได้บัตรโดยสารของธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะเส้นทางบินสมุย

ขณะที่ “ไทยแอร์เอเชีย” และ “นกแอร์” พลิกจากขาดทุนกลับมาทำกำไร

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า สายการบินเติบโตได้ตามแผน ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้ 38,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31 % มีผู้โดยสารรวม 15.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11 % ยิ่งได้รับเเรงสนับสนุนจากไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว จึงเชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีของบริษัท ทั้งด้านผลประกอบการจากรายได้การขายและบริการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20-23 % เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ส่วนยอดผู้โดยสารตลอดทั้งปีคาดเป็นไปตามเป้าหมายที่ 20-21 ล้านคน พร้อมเตรียมรับเครื่องบินลำใหม่ แอร์บัส เอ321 นีโอ เพิ่มอีก 1 ลำในเดือนนี้ รวมเป็นฝูงบิน 60 ลำ ณ สิ้นปีนี้ และกลับมาขยายฝูงบินในระดับปกติต่อเนื่องในปีหน้า

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า สายการบินเติบโตได้ตามแผน ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้ 38,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31 % มีผู้โดยสารรวม 15.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11 % ยิ่งได้รับเเรงสนับสนุนจากไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว จึงเชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีของบริษัท ทั้งด้านผลประกอบการจากรายได้การขายและบริการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20-23 % เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ส่วนยอดผู้โดยสารตลอดทั้งปีคาดเป็นไปตามเป้าหมายที่ 20-21 ล้านคน พร้อมเตรียมรับเครื่องบินลำใหม่ แอร์บัส เอ321 นีโอ เพิ่มอีก 1 ลำในเดือนนี้ รวมเป็นฝูงบิน 60 ลำ ณ สิ้นปีนี้ และกลับมาขยายฝูงบินในระดับปกติต่อเนื่องในปีหน้า

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ กล่าวว่าสายการบินนกแอร์สามารถทำกำไรสุทธิไปได้ 1410.96 ล้านบาท มาจากการมุ่งเน้นพัฒนาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากลยุทธ์ค่าโดยสารและเส้นทางบิน การขยายช่องทางรายได้ใหม่ การยกระดับมาตรฐานการบริการ การทำการตลาดเชิงรุกและเพิ่มความร่วมมือภายนอก และสุดท้ายคือการจัดการสภาพคล่องทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

วุฒิภูมิ จุฬางกูร

โรงแรมหรู ดันรายได้เฉลี่ยต่อห้อง RevPar ได้เพิ่มขึ้น 

สำหรับธุรกิจโรงแรม “ไมเนอร์” เป็นกลุ่มโรงแรมที่ทำกำไรสูงสุด ซึ่งเป็นการเติบโตของโรงแรมและธุรกิจอาหาร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้จะกำไรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยก็ตาม

ตามมาด้วย “AWC” ซึ่งเป็นบริษัทที่มีกำไรเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา ซึ่งธุรกิจโรงแรมจะเน้นผลักดัน รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) ทำให้มีรายได้จากค่าห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจโรงแรมที่เติบโตได้ดีในทุกเซ็กเมนต์ และสามารถทำกำไรจากการดำเนินงานได้ดีมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

AWC มีกลยุทธ์ผลักดันรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) ในช่วง 9 เดือนแรกถึง 4,072 บาทต่อห้อง นอกจากนี้รายได้อาหารและเครื่องดื่มของธุรกิจโรงแรมและการบริการเติบโตเพิ่มขึ้น 13 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

วัลลภา ไตรโสรัส

เป็นผลจากกลยุทธ์การบูรณาการจุดแข็งทางธุรกิจของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและกลุ่มธุรกิจคอมเมอร์เชียลเข้าด้วยกันเพื่อเสริมสร้างมูลค่าร่วม (Synergy Value) ให้รองรับเทรนด์และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

อีกทั้งในช่วงปลายปีนี้และปีหน้า AWC ยังเตรียมเปิด 2 โครงการใหม่ในกรุงเทพฯและพัทยา ได้แก่ “Okura Cruise” เรือเทปันยากิและไคเซกิสุดหรูระดับไฟน์ไดนิ่งลำแรกของโลกโดยโอกุระ ที่จะเปิดให้บริการ ณ ท่าเรือของโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น รวมทั้ง “Melia Pattaya Aquatique Destination” โรงแรมแห่งใหม่และแห่งแรกในเครือ AWC ในพัทยา ที่พร้อมจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมนี้

นายสุโชติ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 4/67 นี้ มองว่าการท่องเที่ยวจะมีการเติบโตที่ดีกว่าทั้งจากเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า

เนื่องจากเป็นไฮซีซัน นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มที่อัตราการใช้จ่ายต่อหัวที่สูงอย่างกลุ่มยุโรปจะเดินทางเข้ามาพักผ่อนที่ไทยเพิ่มมากขึ้น ทำให้คาดว่าจะเป็นผลบวกต่อกลุ่มธุรกิจการบิน

รวมถึงกลุ่มโรงแรม อีกทั้งในช่วงครึ่งหลังปี 2567 มีการขยายเส้นทางการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มเที่ยวบินที่มากขึ้น เพื่อรองรับความต้อการเดินทางได้ดียิ่งขึ้นในปลายปีนี้ ราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นผลดีต่อต้นทุนและกำไร

ทั้งหมดล้วนเป็นภาพรวมของบิ๊กธุรกิจท่องเที่ยวในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา และจะดีต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซันนั่นเอง

หน้า 10 ฉบับที่ 4,047 วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567