thansettakij
AOT เคาะไทม์ไลน์ เปิดประมูล-ก่อสร้าง ขยาย 5 สนามบิน 2 แสนล้าน

AOT เคาะไทม์ไลน์ เปิดประมูล-ก่อสร้าง ขยาย 5 สนามบิน 2 แสนล้าน

13 ธ.ค. 2567 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2567 | 04:57 น.

AOT เคาะไทม์ไลน์ เปิดประมูล-ก่อสร้าง ขยาย 5 สนามบินในช่วง 10 ปีนี้ของทอท. ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินเชียงใหม่ สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย สนามบินภูเก็ต มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้าน

AOT วางไทม์ไลน์ขยาย 5 สนามบิน 2 แสนล้าน

แผนการพัฒนาสนามบินของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท. เพื่อขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันทั้ง 6 แห่ง เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 170 ล้านคนในปี 2572 และเพิ่มเป็น 210 ล้านคน ภายในปี 2575

ในขณะนี้มี 5 สนามบินที่ ทอท.วางไทม์ไลน์การพัฒนาที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งจะเป็นการลงทุนต่อเนื่องตลอดช่วง 10 ปีนี้ (ปี 2568-2578) ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2.49 แสนล้านบาท ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย

แผนขยายสนามบินของทอท. แผนขยายสนามบินของทอท.

เม็ดเงินการลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 58 ของโลก

เร่งทบทวนแผนแม่บทพัฒนาสุวรรณภูมิ แล้วเสร็จเม.ย.ปี 68

โดยในขณะนี้ทอท.อยู่ระหว่างการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารเป็น 150 ล้านคน ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน ปี 2568 แต่ในขณะนี้มี 2 โครงการใหม่ที่ชัดเจนแล้วว่าทอท.จะเดินหน้าลงทุนแน่นอน ได้แก่

1. การขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก หรือ East Expansion วงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งทอท.จะดำเนินการเปิดประมูลในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 คาดจะรู้ผลและเซ็นสัญญาได้ไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2568 คาดเริ่มก่อสร้างในกลางปี 2568 แล้วเสร็จในเดือนกรกฏาคม 2571 ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มพื้นที่ได้อีก 8.1 หมื่นตร.ม. รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน ทำให้ขีดความสามารถรวมของสุวรรณภูมิจาก 65 ล้านคน/ปี เพิ่มเป็น 80 ล้านคน/ปี

2. การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของสนามบิน หรือ South Terminal พร้อมรันเวย์ 4 วงเงินลงทุนรวม 1.7 แสนล้านบาท (เฉพาะการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท) คาดประมูลก่อสร้างในปลายปี 2570 แล้วเสร็จในปี 2575 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารอีก 70 ล้านคนต่อปี เป็นรูปแบบ Mega Terminal เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ใกล้อาคารผู้โดยสาร โดยมีระบบทางด่วนและรถไฟฟ้า เชื่อมเข้าอาคารด้านทิศใต้โดยตรง

AOT เคาะไทม์ไลน์ เปิดประมูล-ก่อสร้าง ขยาย 5 สนามบิน 2 แสนล้าน

ในส่วนของโครงการลงทุนอื่นในสนามบินสุวรรณภูมิ อย่าง ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก หรือ West Expansion เพื่อเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลักเป็น 5.6 แสนตรม. รวมถึงอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT-2 ) ทอท.อยู่ระหว่างการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อพิจารณาว่าสมควรจะลงทุนใน 2 ส่วนนี้อีกหรือไม่

“ปัจจุบัน AOT มีแผนจะลงทุนส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก รวมถึงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงต้องมาทบทวนความเหมาะสม ว่าถ้าเรามีการเพิ่มการลงทุนใหญ่ๆเหล่านี้ไปแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก และ SAT-2 หรือไม่ โดยต้องพิจารณาความต้องการทั้ง Air side และ Land side ด้วย คาดว่าการทบทวนแผนแม่บทจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในเดือนเมษายน 2568” นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOTกล่าว

ขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3 เปิดประมูลกลางปี 2568

นอกจากนี้ทอท.ยังมีแผนชัดเจนในการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 วงเงินลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท คาดจะเปิดประมูลกลางปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2572 รองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคน เป็น 40 ล้านคนต่อปี โดยจะสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ (อาคาร 3) รับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี เปิดให้บริการปี 2571 และจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 และ 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสาร 22 ล้านคนต่อปี

AOT เคาะไทม์ไลน์ เปิดประมูล-ก่อสร้าง ขยาย 5 สนามบิน 2 แสนล้าน

ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าจะก่อสร้างปี 2568 และมีแผนจะปรับปรุงพื้นที่กว่า 2.1 หมื่นตร.ม. เพื่อก่อสร้างอาคารรับรองพิเศษ สำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet Terminal)

แผนพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ คาดเริ่มก่อสร้างปลายปีหน้า

รวมไปถึงโครงการขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างปลายปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2572 ซึ่งจะสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ มีพื้นที่กว่า 9.5 หมื่นตร.ม. รวมทั้งจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ทำให้มีพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 6.66 หมื่นตร.ม. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 20 ล้านคนต่อปี

ขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินภูเก็ต เปิดประมูลกลางปี 2569

ทั้งยังจะเดินหน้าลงทุนแผนขยายท่าอากาศยานภูเก็ต วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท คาดประมูลก่อสร้างในกลางปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2572 รองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคน เป็น 18 ล้านคนต่อปี โดยจะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มพื้นที่อีกกว่า 1.77 แสนตร.ม. และจะมีการพัฒนาที่จอดอากาศยานสำหรับเครื่องบินทะเล หรือ Seaplane ด้วย

AOT เคาะไทม์ไลน์ เปิดประมูล-ก่อสร้าง ขยาย 5 สนามบิน 2 แสนล้าน

ขยายสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย แล้วเสร็จปี 2576

รวมไปถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย วงเงิน 5.8 พันล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2576 เพื่อรองรับผู้โดยสารได้ 3.7 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการก่อสร้างขยายลานจอดอากาศยานด้านทิศใต้พร้อมการซ่อมปรับปรุงลานจอดอากาศยานเดิม การก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ พร้อมทางขับทางเชื่อมต่อทางวิ่งให้สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ได้รวม 12 ลำ

ส่วนกลุ่มงานอาคารผู้โดยสารจะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิม พร้อมทั้งก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังเดิมด้านทิศเหนือและชานชาลา รับส่งผู้โดยสาร หลุมจอดประชิดอาคารรวม 5 หลุมจอด และปรับปรุงถนนภายในท่าอากาศยานจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร การก่อสร้างอาคารคลังสินค้า เป็นต้น

จากเป้าหมายที่ชัดเจนในการขยายการลงทุนที่จะเกิดขึ้น จะทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินที่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการขยายตัวของการท่องเที่ยวไทยด้วยเช่นกัน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,050 วันที่ 5 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567