thansettakij
ไทยแอร์เอเชีย เทคออฟ มุ่งขยายฝูงบินรวม 97 ลำ เพิ่มไฟล์ตสุวรรณภูมิ

ไทยแอร์เอเชีย เทคออฟ มุ่งขยายฝูงบินรวม 97 ลำ เพิ่มไฟล์ตสุวรรณภูมิ

27 มี.ค. 2568 | 00:53 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2568 | 01:20 น.

ไทยแอร์เอเชีย มั่นใจปีนี้ธุรกิจ ขยายตัวแซงหน้าปีก่อนเกิดโควิด มุ่งเป้าขยายฝูงบินรวม 97 ลำในปี 2573 รุกขยายเส้นทางบินผ่านฮับบินสุวรรณภูมิ ปั้มผู้โดยสารปีนี้ 24 ล้านคน

"ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์" ถอดรหัส ไทยแอร์เอเชีย เทคออฟ 

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธาน บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV กล่าวว่าในปีนี้สายการบินไทยแอร์เอเชีย ตั้งเป้าขนส่งผู้โดยสาร 23-24 ล้านคน รวมทั้งมีแผนเพิ่มเครื่องบินแอร์บัส A321neo จำนวน 6 ลำ เป็น 66 ลำในปีนี้ ซึ่งจะเป็นสถิติใหม่สูงสุดของบริษัท

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์

การที่ไทยแอร์เอเชียกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง หัวใจสำคัญคือ ในช่วงโควิดเราเลือกที่จะเก็บคนไว้เพราะมองยาวไปว่าหลังโควิดเราจะได้กลับมาเติบโตได้ จึงจะเห็นว่าหลังโควิดสายการบินจึงมีคนที่สามารถทำการบินได้

ทั้งนี้ในช่วงวิกฤตปีแรก ๆ แอร์เอเชีย ยังบิน ๆ หยุด ๆ บางช่วงก็หยุดสนิท ส่งผลให้เงินเดือนพนักงานจากลด 25% จนเป็น 50%  มีการหยุดพักงานโดยไม่จ่ายเงินเดือน และสลับวันกันทำงาน โดยไม่รับค่าจ้างและสุดท้ายไม่จ่ายเงินเดือน 6 เดือน สลับกันคนละรอบ และยืนยันว่าจะไม่เอาใครออก จะพยายามเก็บพนักงานไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อรอวันฟ้าเปิด

ประกอบกับในช่วงเวลานั้น บริษัทต้องเก็บตัว งอเข่า และทำตัวให้เล็กที่สุด หั่นต้นทุนให้เหลือน้อยที่สุด อะไรที่ขายได้ก็ขาย จนในปี 2566 เริ่มกลับมามีกำไรครั้งแรก 465 ล้านบาท จากในปี 2564 แอร์เอเชียมีรายได้เพียง 4,558 ล้านบาท ขาดทุน  6,647 ล้านบาท ปี 2565 รายได้เริ่มเพิ่มมาเป็น 18,319 ล้านบาท แต่ยังขาดทุนถึง 8,030  ล้านบาท

ส่วนในปี 2567 รายได้เพิ่มสูงเป็น 50,793.8 ล้านบาท กำไร  3,477.9 ล้านบาท เป็นการฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง โดยมีผู้โดยสารทั้งสิ้น 20.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 94 % ของระดับก่อนโควิด

ผลประกอบการ AAV ปี 2567 ผลประกอบการ AAV ปี 2567

มุ่งเป้าระยะยาวขยายฝูงบินรวม 97 ลำในปี 2573 ตั้งเป้าผู้โดยสารปีนี้ 23-24 ล้านคน 

ด้านนายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ ไทยแอร์เอเชีย มีแผนรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A321LR และ A321 XLR เพิ่ม เพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ สู่เป้าหมายใหญ่ในปี 2573 ที่ไทยแอร์เอเชียจะมีฝูงบินใหญ่ขึ้นรวมทั้งหมด 97 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินเช่า

สันติสุข คล่องใช้ยา สันติสุข คล่องใช้ยา

ขณะที่ทิศทางการเติบโตของสายการบินไทยแอร์เอเชียในปี 2568 ไทยแอร์เอเชีย ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้โดยสาร 23-24 ล้านคน จากการขยายฝูงบินแอร์บัสเพิ่มเป็น 66 ลำ มีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) ใกล้เคียง 90% เพิ่มจากปี 2567 ที่มีผู้โดยสาร 20.8 ล้านคน มีเครื่องบินอยู่ที่ 60 ลำ

มั่นใจปีนี้ธุรกิจ ขยายตัวแซงหน้าปีก่อนเกิดโควิด

"ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ธุรกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังผ่านวิกฤติโควิด-19 จากการขยายฝูงบินแอร์บัสเพิ่มเป็น 66 ลำในปีนี้ รับมอบเพิ่ม 6 ลำ จากปี 2562 (ก่อนโควิด) ไทยแอร์เอเชีย มีฝูงบิน 63 ลำ แต่ระหว่างการระบาดของโควิดต้องคืนเครื่องบินไป 10 ลำ เหลือ 53 ลำ ในช่วงการฟื้นตัวได้ทยอยรับมอบเครื่องบินกลับสู่ภาวะปกติจนถึงปีที่แล้วมีจำนวน 60 ลำ โดยนับจากปีนี้จะมีแต่เครื่องบินรุ่นใหม่ A321 Neo"

ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชีย

ด้านเป้าหมายรายได้คาดเติบโต 15% เทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งทำรายได้  49,436 ล้านบาท  เป็น Record High โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักคือการโฟกัสตลาดเส้นทางบินในประเทศ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนผู้โดยสารเป็น 65% จาก 60% เมื่อปีที่แล้ว เพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดต่างประเทศที่ยังมีความผันผวนในบางตลาด และตลาดเส้นทางในประเทศเองก็ให้มาร์จิ้นดีกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับตลาดเส้นทางระหว่างประเทศ 

เป้าหมายของไทยแอร์เอเชียในปีนี้คือการรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ของตลาดเส้นทางในประเทศที่ 40% ใกล้เคียงกับปีที่แล้วซึ่งได้ 41% นับว่าสูงสุดที่เคยได้มา และเติบโตจากฐานส่วนแบ่งตลาด 32% เมื่อปี 2562 สะท้อนว่าตลาดเส้นทางในประเทศเป็นไปได้ดี ไม่น่าห่วง

รุกขยายเส้นทางบินผ่านฮับบินสนามบินสุวรรณภูมิ หลังดอนเมืองสล็อตแน่น

นอกจากนี้ ไทยแอร์เอเชียจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ไปสร้างการเติบโตที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย มุ่งดำเนินนโยบาย “2 สนามบินเต็มรูปแบบ” ควบคู่กับสนามบินดอนเมืองที่เป็นฐานหลัก เนื่องจากปัจจุบันขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินดอนเมืองอยู่ที่ 92% ใกล้เต็มแล้ว 

ทั้งยังเล็งเห็นว่าสนามบินสุวรรณภูมิยังมีช่องทางการขยายตัว จากอาคาร SAT-1 และการขยายรันเวย์ที่ 3 สามารถขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มจากปัจจุบัน 60 ล้านคนต่อปี เป็น 75  ล้านคนต่อปีในปี 2570 และจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านใต้เพิ่ม รองรับได้เป็น 150 ล้านคนต่อปีในอนาคต 

โดยในปีนี้ไทยแอร์เอเชียจะเปิดเส้นทางในประเทศให้ได้ 11 เส้นทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ และมองการเปิดเส้นทางระหว่างประเทศครั้งแรกในปีนี้ด้วย มองตลาดเส้นทางสู่อินโดจีนไว้

ดึงตลาดอินเดีย กู้นักท่องเที่ยวจีนหดตัว

ด้านตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีความท้าทายว่าปี 2568 จะสามารถทำตัวเลขกลับไปที่ 40 ล้านคนเท่าปี 2562 ได้หรือไม่ โดยเฉพาะตลาดจีนเที่ยวไทย ซึ่ง ททท. ตั้งเป้าไว้ 8 ล้านคนในปีนี้ แต่เมื่อดูสถิติไตรมาส 1 คาดได้ 1.5 ล้านคน หลังเผชิญปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์กระทบความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวจีน ถ้าคำนวณง่ายๆ รวม 4 ไตรมาส น่าจะเห็นนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยอยู่ที่ 6 ล้านคน ก็ยังไม่เท่าปีที่แล้วซึ่งปิดที่ตัวเลข 6.7 ล้านคน

“ตลาดนักท่องเที่ยวจีน ฮ่องกง มาเก๊า ได้รับผลกระทบจากปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชะลอตัวชัดเจนในไตรมาส 1 ของปีนี้ ส่งผลให้ไทยแอร์เอเชียต้องปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับสถานการณ์ตลาด ด้วยการลดปริมาณที่นั่ง (Capacity) ตลาดเส้นทางจีนจาก 30% เมื่อปี 2562 เหลือ 17% ในปีนี้ โดยชดเชยด้วยเอเชียใต้ เช่น อินเดีย เพิ่มจาก 8% เป็น 18% ในปีนี้ แม้ตลาดจีนจะดร็อปไป แต่ก็ได้ตลาดอินเดียมาเพิ่มเติม” 

ขณะเดียวกันยังเห็นผลตอบรับดีจากการเจาะตลาดเสรีภาพการบินที่ 5 (Fifth Freedom) ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียเปิดแล้ว 3 เส้นทาง แวะจอดที่ไต้หวันก่อนบินต่อไปญี่ปุ่น ดึงคนไต้หวันไปเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทำกำไรได้ดี ในอนาคตมองการแวะจอดที่ฮ่องกงเพิ่ม ก่อนบินต่อไปญี่ปุ่น

จี้รัฐเร่งกอบกู้ตลาดนักท่องเที่ยวจีน

ทั้งผมยังอยากเสนอแนวทางการให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาตลาดจีนเที่ยวไทยที่เราอยากเห็น คือการแก้ไขภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยซึ่งมีหลายวิธี เช่น การใช้สื่อในประเทศจีน การจัดสรรงบประมาณเพื่อให้สำนักงาน ททท. ทั้ง 5 แห่งในจีนนำไปส่งเสริมประชาสัมพันธ์

รวมถึงการออกแคมเปญร่วมกับบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) ของจีน โดยสายการบินก็พร้อมทำงานร่วมกับ ททท. ผ่านแผนควิกวินต่างๆ เช่น การเชิญอินฟลูเอนเซอร์จีนเดินทางมาไทย เป็นจุดที่ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพราะเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นสิ่งที่เราแก้ไขได้ ต่างจากปัญหาเศรษฐกิจจีนชะลอตัวที่มีโครงสร้างใหญ่เกินกว่าเราจะแก้ไข นายสันติสุข กล่าวทิ้งท้าย