คนวงการเกษตร ร่วมอวยพร วันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 50 ปี

03 ต.ค. 2565 | 10:49 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2565 | 18:05 น.

วันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 50 ปี “ฐานเศรษฐกิจ” ยกตัวอย่าง คนวงการเกษตร 4 สมาคม ร่วมยินดีอวยพร ด้าน สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย อวดผลงานชิ้นโบว์แดง การันตีคุณภาพ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย พร้อมสนับสนุนงานวิชาการของกรม

"กรมวิชาการเกษตร" ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น หน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2515 แต่ก่อนที่จะ มาเป็นกรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน หน่วยงานนี้มี ประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน นับย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2446 ได้มีการจัดตั้งกรมช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการซึ่งถือเป็นการกำเนิดกรมวิชาการเกษตร

 

- พ.ศ. 2449 เปลี่ยนชื่อกรมช่างไหม เป็น กรมเพาะปลูก

- พ.ศ. 2474 เปลี่ยนชื่อกรมเพาะปลูก เป็น กรมตรวจกสิกรรม

- พ.ศ. 2476 เปลี่ยนชื่อกรมตรวจกสิกรรม เป็น กรมเกษตร

- พ.ศ. 2478 เปลี่ยนชื่อกรมเกษตร เป็น กรมเกษตรและการประมง

- พ.ศ. 2484 แยกกรมเกษตรและการประมงเป็น 2 กรม คือ กรมเกษตร และ กรมการประมง

- พ.ศ. 2495 เปลี่ยนชื่อกรมเกษตร เป็น กรมการกสิกรรม

- พ.ศ. 2496 ยกฐานะกองการข้าวและการทดลอง ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของกรมการกสิกรรม

จัดตั้งเป็นกรมการข้าว แยกออกมาจาก กรมการกสิกรรม

- พ.ศ. 2497 เปลี่ยนชื่อกรมการกสิกรรม เป็น กรมกสิกรรม

- พ.ศ. 2515 รวมกรมการข้าว กับ กรมกสิกรรม สถาปนาเป็น กรมวิชาการเกษตร

 

คนวงการเกษตร ร่วมอวยพร วันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 50 ปี

 

นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครบรอบ 50 ปี ในนามของสมาคม ขออำนาจคุณพระศรีรัตนไตรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกได้โปรดประทานพรให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าเป็นที่พึ่งของเกษตรกรและองค์กรภาคเอกชนยิ่งขึ้นตลอดไป

 

 

คนวงการเกษตร ร่วมอวยพร วันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 50 ปี

 

เช่นเดียวกับ ดร.อนันต์ ดาโลดม นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ตนเคยเป็นข้าราชการกรมวิชาการเกษตรไปไปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นเวลา 3 ปีครึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 15 มีนาคม  2544 เป็นเวลาช่วงหนึ่งที่ดีที่สุดของชีวิตที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับนักวิชาการ นักวิจัย ซึ่งมีทั้งข้าราชการ และลูกจ้าง พนักงานลูกจ้างประมาณ 8,000 คน ในขณะนั้น เป็นช่วงที่ดีมาก มีความสุข และมีผลงานออกมาเป็นที่ประจักษ์ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของนักวิชาการข้าราชการและพนักงานของกรมวิชาการเกษตรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และในโอกาสที่กรมวิชาการเกษตรได้มีการจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ปี 2515 จนถึงปัจจุบัน ปี 2565  ได้เติบโตทำคุณประโยชน์ให้แก่วงการเกษตรและพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก

 

“ในโอกาสที่ครบรอบ 50 ปีในการก่อตั้งกรมวิชาการเกษตร กระผมในฐานะที่เคยรับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นเวลาประมาณ 3 ปี ครึ่ง ถือโอกาสในวาระที่เป็นมงคลนี้ขอขอบพระคุณกับข้าราชการ นักวิจัย พนักงาน ได้มีส่วนในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่ภาคเกษตรและพี่น้องเกษตรกรตลอดมา และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และขอให้กรมวิชาการเกษตรดำรงภาระกิจตามหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรต่อไปให้ประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติในภาคเกษตร”

 

 

 

ดร.อนันต์  กล่าวว่า สุดท้ายขออวยพรให้คณะผู้บริหารให้ลูกจ้างทุกคนจงประสบแต่ความสุขและความเจริญมีพลานามัยแข็งแรงและสมบูรณ์ มีจิตใจเข้มแข็ง มีการทำงาน อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะให้ชีวิตข้าราชการของตนเองมีความเจริญรุ่งเรืองทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดินด้วยองค์ประกอบครบถ้วนทุกประการในการเป็นข้าราชการที่ดี เป็นข้าราชการของแผ่นดิน เป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างที่เคยดำรงมาตลอดไป ขออวยพรให้กรมวิชาการเกษตรจงประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง สืบต่อไป

 

คนวงการเกษตร ร่วมอวยพร วันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 50 ปี

 

ด้านดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 50 ปี ในนามของสมาคมสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ที่ได้ทำงานควบคู่กันมาโดยตลอด สิ่งที่เป็นสำคัญล่าสุด การที่กรมวิชาการเกษตรได้ผลักดันออกกฎระเบียบตัวใหม่ เพื่อที่จะรองรับการรับรองห้องปฏิบัติการตรวจศัตรูพืช หมายความว่าการรับรองนี้จะเป็นไปตามมติ ครม. ปี 2553  ที่จะต้องมีการถ่ายโอนภารกิจ ซึ่งตอนนี้การส่งออกเมล็ดพันธุ์ทวีจำนวนและมูลค่า แล้วการที่จะไปใช้ห้องปฏิบัติการ (แล็ป) ของกรมวิชาการเกษตร เป็นภาวะที่ค่อนข้างตึงพอสมควร จึงเห็นควรว่าโอนไปให้การรับรองของหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่กรม

 

“อาทิ มหาวิทยาลัย หรือ สวทช. หรือ ของบริษัทเอกชนก็แล้วแต่เพื่อที่จะมาเป็นมือและไม้ ของกรม พอรับรองห้องปฏิบัติติการเหล่านี้ ทำให้เวลานำผลผลิตไปตรวจผลของการรับรองจะต้องส่งไปให้กรมวิชาการเกษตรทุกครั้ง ในการพิจารณาอีกทีหนึ่งในการออกเอกสารสำคัญสำหรับการส่งออก นี่ก็คือว่าเป็นคุณูปการอย่างยิ่งที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แล้วสำเร็จในเรื่องการอนุมัติแล้ว เพียงแต่รอว่ากฎหมายใหม่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นสิ่งที่ดีมาก”

 

ดร.บุญญานาถ กล่าวว่า ในอีกประเด็นหนึ่ง เรื่องที่กรมวิชาการเกษตร มีการปรับตัวที่จะใช้ระบบดิจิตอลมาตอบรับการทำงานมากขึ้น นี่ก็จะสัมพันธ์ในเรื่องการส่งออกทั้งผัก ผลไม้สด และเมล็ดพันธุ์ เลยใช้ ระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์  หรือ “E-PHYTO” ก็จะมีความสัมพันธ์ในเรื่องห้องปฏิบัติการ เมื่อรับรองตรวจเมล็ดพันธุ์แล้ว ก็จะส่งผลการตรวจมาให้ออกเอกสารเพื่อการส่งออก เดิมทำด้วยระบบแมนนวล แต่ตอนนี้กรมได้ออกแบบระบบใหม่แล้ว การออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อการส่งออกจะมาใช้ระบบดิจิตอล เพิ่งเริ่มต้น แต่เป็นการเริ่มต้นที่ดีมากของประเทศไทยเพราะว่าบางประเทศ ก็มี “E-PHYTO” แต่อาจจะรองรับขาเดียว คือ ขานำเข้า บางคนก็เอาเฉพาะขาส่งออก แต่ของไทยจะรองรับส่งออกและนำเข้า นี่คือความโดดเด่นของประเทศไทย ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ทำให้

 

ในนามของสมาคมขอยกให้ 2 เรื่องนี้ เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่สำคัญมากของกรมวิชาการเกษตร ไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะของผู้ประกอบการ แต่ตอบโจทย์ไปถึงเกษตรกร เพราะอย่าลืมว่าอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์รายได้ตกอยู่ในประเทศ และอยู่กับเกษตรกร ผู้ประกอบการก็ได้ในส่วนส่งออก แต่จะอยู่ไม่ได้เลยถ้าเกษตรกรทำไม่ได้ ตรงนี้ถ้าเราส่งออกได้เยอะก็จะย้อนกลับมา เรียกว่าตอบโจทย์ให้กับทุกคน

คนวงการเกษตร ร่วมอวยพร วันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 50 ปี

 

ปิดท้าย ดร. จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า  ทางสมาคมก็มีความยินดีที่ทางกรมวิชาการเกษตร มีอายุครบ 50 ปี  หากเปรียบเทียบกับ “คน” ก็ถือว่าเป็นวัยทำงาน กำลังมีประสบการณ์ มีความรู้ที่จะทำงาน อยากให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ของการตั้งกรมวิชาการเกษตร เป็นที่พึ่งทางวิชาการของทุกคน โดยเฉพาะของเกษตรกร และของนักวิชาการ ทั้งในหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทำงานร่วมกันกับทางสมาคมวิชาการ

 

“เช่น สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย หรือ สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย  เป็นต้น ซึ่งเป็นสมาคมวิชาการที่ตั้งอยู่ในกรมวิชาการเกษตรทุกสมาคมยินดีที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนด้านวิชาการอยากให้ท่านอธิบดีมาใช้สมาคมบ้าง เพราะท่านอาจจะไม่ทราบ เพราะความจริงทุกสมาคมที่ตั้งมา ตั้งโดยนักวิชาการของคนในกรมเพื่อที่จะเป็นแหล่งรวบรวม ข้อมูลความรู้ และสนับสนุนงานของกรม เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ”