นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย ผู้อำนวยการ อาทิ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช, สถาบันพืชสวน และ ผอ สวพ เขต 7 พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อคุมเข้ม คุณภาพ มาตรฐานทุเรียน ส่งออกไปจีน
พร้อมกับสั่งเดินหน้าปรับรหัสสวน GAP รูปแบบใหม่ เพื่อให้ทันการขึ้นทะเบียนส่งออกไปยังประเทศจีนรอบต่อไป ป้องกันการสวมสิทธิ์ เตือนผู้ประกอบการ และโรงคัดบรรจุรายใดส่งทุเรียนด้อยคุณภาพ ซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจ และผิดเงื่อนไขตามพิธีสารส่งออกผลไม้ไทยจีน ถือเป็นความผิดทางอาญา
โดย กรมวิชาการเกษตรจะได้จัดทีมเฉพาะกิจอำนวยความสะดวก เร่งออกบริการคลีนิคเกษตรเคลื่อนที่ เพื่อรับขึ้นทะเบียน ต่ออายุ และปรับปรุงรหัส GAP ทั่วประเทศ โดยระดมทีมงานจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1- 8 (สวพ. 1-8) และ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (กมพ.) รวมถึง ศูนย์วิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยพืชไร่ในเขตพื้นที่นั้นๆ ปูพรมทำงานตามแผนปฎิบัติงานที่ผู้บริหารกรมวิชาการเกษตรได้ประชุมร่วมกันเมื่อเดือนกันยายน ณ จังหวัดเชียงใหม่
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า วันนี้ ( 31 ต.ค.65)ได้ลงพื้นที่ประชุมหารือกับ นาย วีรวัฒน์ จิรวงส์ นายกสมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร และกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ หรือ Fruit Board นายวิโรจน์ แสงบางกา ที่ปรึกษาสมาคมสวนผลไม้จังหวัดชุมพร และตัวแทนพี่น้องเกษตรกร รวมถึง ตัวแทนผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ เพื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ เพื่อการส่งออกทุเรียนใต้สู่ประเทศจีน พร้อมมอบใบรับรอง GAP ที่ปรับปรุงรหัสใหม่ให้กับกลุ่มเกษตรกร ที่เข้าร่วมประชุม
"ได้สั่งการให้ สวพ เขตที่ 7 เร่งออกใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่ และการขึ้นทะเบียร GAP ให้กับเกษตรกรรายใหม่ เพื่อให้ทันฤดูกาลส่งออกทุเรียนภาคใต้ โดยการอำนวยความสะดวกในการบริการคลีนิคเกษตรเคลื่อนที่ เพื่อรับขึ้นทะเบียน ต่ออายุ และปรับปรุงรหัส GAP ในพื้นที่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี อาทิ อำเภอ ท่าแซะ ประทิว สวี หลังสวน ทุ่งตะโก ท่าศาลา นบพิตำ พนม คีรีรัฐนิคม บ้านนาสาร เป็นต้น"
นายระพีภัทร์ กล่าวในตอนท้ายว่า อีกเป้าหมายสำคัญในการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ตระหนักถึงการปฏิบัติตามเงื่อนไขคัดบรรจุทุเรียนสดที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อการส่งออกไปตลาดจีน ซึ่งปัจจุบันในพื้นทีจังหวัดชุมพร มีจำนวน 353 โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ กรมวิชาการเกษตรของไทย และกระทรวงศุลกากรของจีนแล้ว พร้อมได้ บูรณาการเข้มข้นกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายปกครอง เพื่อป้องกันการลักลอบตัดทุเรียนอ่อน และทุเรียนด้อยคุณภาพ รวมถึง ป้องกันการสวมสิทธิ์ทุเรียน