วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า สั่งการ ให้เร่งตรวจประเมินห้องปฏิบัติการของเอกชนเพื่อให้การรับรองเป็นห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจรับรองการปลอดศัตรูพืชในเมล็ดพันธุ์ได้ถูกต้องตามกฎหมายสามารถออกใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e–phyto) สอดรับกับประกาศกรมวิชาการเกษตรในราชกิจจานุเบกษาให้การตรวจสอบศัตรูพืชหรือการกำจัดศัตรูพืช ต้องกระทำโดยกรมวิชาการเกษตร
หรือหน่วยงานที่กรมวิชาการเกษตรยอมรับความสามารถเป็นผู้ดำเนินการ เสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบศัตรูพืชของไทย ที่มีความชัดเจน รวดเร็ว ทันสถานการณ์ ลดขั้นตอนและภาระงานและการผ่านพิธีการศุลกากรของสินค้าไทย ทั้งต้นทางและปลายทาง ส่งผลให้การค้าเมล็ดพันธุ์ของไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น
ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุม APEC High-Level Policy Dialogue on Agricultural Biotechnology: HLPDAB ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสำเร็จของ SDGs ที่สอดคล้องกับ BCG Economy Models โดยร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน สร้างความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและคุณภาพเมล็ดพันธุ์สู่การเป็นผู้นำเมล็ดพันธุ์พืชผักเขตร้อนคุณภาพสูงของโลก (World Leader of Tropical Seeds)
ผ่านงานประชุมเมล็ดพันธุ์พืชแห่งเอเชียและแปซิฟิค ประจำปี 2565 หรือ Asian Seed Congress 2022 ที่จะมีการจัดระหว่างวันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นงานสำคัญของสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค (Asia and Pacific Seed Alliance, APSA) ที่จะรับรู้ถึงการก้าวสู่เป้าหมายความมั่นคงด้านอาหารในปี 2573
เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และ เตรียมความพร้อมดังกล่าว อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเชียงใหม่ ที่มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025: 2017 สามารถให้บริการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน พรบ.พันธุ์พิช พ.ศ. 2518 ครอบคลุม 46 ชนิดพืช
บริการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในพื้นที่ภาคเหนือไม่น้อยกว่า 100 ราย พัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้ได้มาตรฐานสากล มีความสะดวกและรวดเร็ว ช่วยลดข้อจำกัดในการส่งออกเมล็ดพันธุ์ ส่งเสริมการขยายตลาดเมล็ดพันธุ์ทั้งภายในและต่างประเทศ
พร้อมกันนี้ได้เยี่ยมชมกระบวนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเชียงใหม่ มีภารกิจด้านงานผลิตพันธุ์พืชไร่และพืชสวนหลายชนิด โดยสภาพพื้นที่ภาคเหนือเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง
เช่น พันธุ์เชียงใหม่ 60 และ พันธุ์ กวก เชียงใหม่ 7 ซึ่งถือเป็นพืชเพื่อความมั่นคงทางอาหารและเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมน้ำมันพืช อาหารสัตว์ อาหารแปรรูป และอาหารสุขภาพต่าง ๆ ที่ตลาดมีความต้องการสูง นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยงานเดียวที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกร
กรมวิชาการเกษตรมีห้องปฏิบัติการบริการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ จำนวน 4 แห่ง คือ ห้องปฏิบัติการของกลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบและรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืช กองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเชียงใหม่ ขอนแก่น และพิษณุโลก เพื่อออกใบรับรองทางราชการ และ ISTA เพื่อขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (APEC) และผู้นำด้านเมล็ดพันธุ์พืชผักเขตร้อนคุณภาพสูงของโลก (World Leader of Tropical Seeds)
“กรมวิชาการเกษตรเริ่ม “Kick Off ศูนย์กลางการผลิตและตรวจรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในเขตภาคเหนือ” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเชียงใหม่ และเร็วๆ นี้ จะเปิดตัว “One Stop Service” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชขอนแก่น เพื่อรองรับการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จแก่บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดของประเทศไทย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว