นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากมติครม. วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ครม.อนุมัติงบกลาง 540 ล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 6 ปี
ทางสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ขอเชิญเกษตรกร ผู้แทนองค์กรเกษตรกร และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้ารับฟังการขับเคลื่อนภารกิจด้านการบริหารจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ฯ พร้อมทั้งรับมอบนโยบายการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรฯ โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 9.00 - 15.00 น. ณ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการ
“การปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย พรบ.สภาเกษตรกรห่งชาติฯ สมาชิกทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง อย่างผมก็เป็นสมาชิกมาจากลำปาง ปกติ 4 ปี ต้องเลือกตั้ง 1 ครั้ง แต่ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่ให้เลือกตั้งแล้ว ให้รักษาการมาจนถึงปัจจุบัน จึงยื่นหนังสือขอนายกรัฐมนตรีอีกว่า ครั้งนี้ถึงเวลาแล้วที่จะให้เลือกตั้งได้แล้ว"
นายประพัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากรักษาการมานานแล้ว สมาชิกที่เป็นอยู่ก็เป็นตั้งแต่ชุดก่อตั้ง ทำงานมา 8 ปีแล้ว สมควรให้มีการเลือกตั้งเพื่อที่จะผลัดเปลี่ยนสมาชิกชุดใหม่มาดำเนินการบ้าง แล้วเชิญท่านมาคิกออฟเปิดการเลือกตั้งมามอบนโยบายให้ ตอนนี้สถานะของท่านเป็นนายกรัฐมนตรีผู้รักษาการกฎหมายของสภาเกษตรฯ
นายประพัฒน์ กล่าวว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ทางกระทรวงมหาดไทย จะเป็นผู้ดำเนินการ โดยกรมการปกครอง ซึ่งหลังจากให้นายกรัฐมนตรีมาคิกออฟแล้ว หลังจากนั้นทางคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งก็จะประชุมอีกครั้งว่าจะมีการรับสมัครผู้แทนเกษตรกร เลือกตั้งได้วันไหน ซึ่งในคณะนี้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานถึงแม้ว่าจะอยู่ระหว่างการดำเนินการเลือกตั้งสภาแกษตรกรในคณะนี้ยังคงปฎิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกชุดใหม่มารับงานต่อ
“สิ่งที่อยากจะฝากพี่น้องเกษตรกร ใครสนใจพอที่จะมีเวลา มีความคิด พึ่งตนเองได้ อยากจะเสียสละเวลา ช่วยกันมาสมัคร หรือว่าไปตรวจสอบคุณสมบัติได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ทุกที่ ว่ารายชื่อครบถ้วนหรือไม่ มีรายชื่อเกษตรกรอยู่ด้วย เพราะหลายคนสนใจโทรมาหาผมอยากจะสมัคร แต่ถ้าไม่มีก็ต้องไปขึ้นทะเบียนอาชีพเกษตรกร ถ้ามั่นใจว่าเป็นเกษตรกรที่มีอาชีพปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ แต่ไม่ได้ขึ้นไว้ก็รีบไปขึ้นทะเบียน อยากจะมาทำงานให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยก็เตรียมตัวมาเลือกตั้งได้
นายประพัฒน์ กล่าวว่า สภาเกษตรกรมีสมาชิกอยู่ 2 ระดับ ก็คือ ระดับจังหวัด แล้วก็มีตัวแทนทุกอำเภอก็จะทำหน้าที่ในการดูแลพี่น้องเกษตรกร ส่งผ่านปัญหาของพี่น้องเกษตรกร ไปถึงท่านผู้ว่าฯ และตัวสภาผู้แทนเกษตรกรระดับจังหวัดก็มารวมกันเป็นสภาเกษตรกรแห่งชาติ มาคัดเลือกแล้วก็ตั้งเป็นประธานสภาเกษตรกร และรองประธาน 2 คน ตามลำดับ เป็นไปตามกฎหมาย
เป็นการทำหน้าที่รวบรวมปัญหาทั้งหมดเสนอต่อรัฐบาลเข้าคณะรัฐมนตรี หรือเข้าไปเป็นตัวแทนประชุมในคณะกรรมการต่างๆของรัฐบาล และกระทรวงต่างๆจะมีตัวแทนเป็นกรรมการอยู่ในชุดนั้นๆ เข้าไปร่วมประชุม ซึ่งก็แล้วแต่โดยหน่วยราชการจะเป็นผู้จัดตั้ง แต่เมื่อมี พรบ.สภาเกษตรกรฯ จะเป็นตัวแทนเกษตรกรตามพฤตินัยและนิตินัย เช่น คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) , คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) และ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เป็นต้น
นับตั้งแต่มีสภาเกษตรกรฯ 8 ปีมาแล้ว ปัญหาเรื่องม็อบน้อยลง ปัญหาความขัดแย้งน้อยลง เพราะทางสภาฯ จะนำปัญหามาเสนอความเห็น ก็จะพยายามทำหน้าที่นี้ต่อไป แต่ขอแจ้งว่าข้อมูลเพิ่มเติมให้กับผู้ที่สนใจจะมาสมัคร สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ 2 ระดับ ไม่มีเงินเดือน ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานให้สังคม ทำงานให้กับเกษตรกร
"ส่วนงบประมาณที่ได้มาเป็นค่าเดินทาง เบี้ยเลี้ยงและค่าเบี้ยประชุม เพราะฉะนั้นจะได้เข้าใจตรงกัน ผมทำงาน 8 ปี ไม่มีผลตอบแทน ไม่มีรายได้ ไม่ได้เป็นองค์กรแสวงหารายได้ เป็นการทำงานให้กับพี่น้องเกษตรกร ดังนั้นขอเรียนเชิญชวนใครที่สนใจมีความประสงค์จะสมัครตัวแทนก็เชิญได้เลย โดยนายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้" นายประพัฒน์ กล่าวในตอนท้าย