กขค.จ่อสอบ LINE ส่อใช้อำนาจเหนือตลาด บีบลูกค้าจ่ายเพิ่ม

27 ธ.ค. 2565 | 10:07 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2565 | 18:43 น.

ประธาน กขค.รับเตรียมตรวจสอบ LINE ปิดให้บริการ LINE IDOL ให้ลูกค้าเปลี่ยนไปใช้ LINE OA ที่ต้องจ่ายเพิ่มแทน อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ใช้อำนาจเหนือตลาดจำกัดการให้บริการ บีบจ่ายเพิ่ม

กรณีแอปพลิเคชันชื่อดัง LINE ประกาศปิดการให้บริการ LINE IDOL ในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยให้ลูกค้าย้ายไปใช้ LINE official account หรือ LINE OA ในการแจ้งข้อมูลข่าวสารแทน เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของไลน์ในประเทศไทย

ทั้งนี้การปิดการให้บริการ LINE IDOL จะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ผลิตคอนเทนต์ และสื่อมวลชน มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 5,000-10,000 บาทต่อเดือน เป็นหลักแสนถึงหลักล้านบาทต่อเดือน จากในราคาแพ็คเกจที่กำหนดไว้ใน LINE OA นั้นมีการจำกัดจำนวนข้อความที่ส่งไว้ หากเกินจากนั้นจะคิดค่าบริการการส่งเพิ่มเติม เช่น แพ็คเกจ 1,500 บาท จะจำกัดการส่งข้อความไว้ที่ 35,000 ข้อความ หากเกินจากนั้นจะคิด 0.04 บาทต่อหนึ่งคนที่ได้รับการส่งข้อความ(ราคายังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ซึ่งจะส่งผลให้ภาคธุรกิจและสื่อมวลชนมีภาระค่าใช้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นหลักหลายล้านบาทต่อเดือนและต่อปี ตามที่ฐานเศรษฐกิจได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

 

นายสกนธ์  วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

 

 

นายสกนธ์  วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 50 วงเล็บ 3 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เรื่องการใช้อำนาจเหนือตลาดในการจำกัดการให้บริการ เพื่อหาวิธีเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับบริการเพิ่มอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ กขค.จะศึกษาและตรวจสอบข้อมูลในเรื่องดังกล่าวว่าผู้ให้บริการมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ในการกระทำการดังกล่าว โดยเรื่องนี้คาดจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กขค.ได้หลังช่วงปีใหม่

 

สำหรับการป้องกันการผูกขาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาดกระทําการในลักษณะ อย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งอาจขัดกับ มาตรา 50 โดยในมาตรา 50 วงเล็บ(3) ระบุว่า การระงับ ลด หรือจํากัดการบริการ การผลิต การซื้อ การจําหน่าย การส่งมอบ การนําเข้ามา ในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทําลายหรือทําให้เสียหายซึ่งสินค้า ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด

 

ขณะที่นิยามของผู้มีอำนาจเหนือตลาด ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดโดยแบ่งลักษณะการพิจารณาเป็น 2 กรณี ดังต่อไปนี้

 

กรณีที่ 1 ผู้ประกอบธุรกิจรายเดียว มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาของสินค้าหรือบริการหนึ่งตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

 

กรณีที่ 2 ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกของตลาดสินค้าหรือบริการหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันกัน 75% และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

 

อย่างไรก็ดีถ้ามีผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ถึง 10% ก็จะได้รับการยกเว้น ไม่เข้าเกณฑ์การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกรณีนี้