ส่งออกไทย 11 เดือน 9.1 ล้านล้าน “อิรัก-บาห์เรน-ซาอุฯ”โตสูงสุด

27 ธ.ค. 2565 | 11:54 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2565 | 19:18 น.

“จุรินทร์” ปลื้มส่งออก 11 เดือนแรกโต 7.6% นำเงินเข้าประเทศกว่า 9.16 ล้านล้านบาท ทะลุเกินเป้าหมายทั้งปี ตลาดอิรัก บาห์เรน ซาอุฯ นำ 3 อันดับแรกยอดขยายตัวสูงสุด ขณะค้าชายแดนและผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 11 เดือน พุ่ง 9.44 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงาน (27 ธ.ค. 2565) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศ–การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในเดือนพฤศจิกายน และภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2565 โดยมีผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วม

 

นายจุรินทร์ เผยว่า การส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2565 ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯมีมูลค่า 22,308 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ -6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,650.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ +5.6% ภาพรวมการส่งออกไทยช่วง 11 เดือนแรก มีมูลค่า 265,349.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ +7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 280,438.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ +16.3%

ขณะที่การส่งออกในสกุลเงินบาทเดือนพฤศจิกายน มีมูลค่า 846,191 ล้านบาท -6%  และ 11 เดือนแรก มูลค่า 9.16  ล้านล้านบาท +7.6% ทำให้การส่งออก 11 เดือนแรกปีนี้เกินเป้าหมายส่งออกที่กำหนดไว้แล้วทั้งปีที่ 9 ล้านล้านบาท

 

ส่งออกไทย 11 เดือน 9.1 ล้านล้าน “อิรัก-บาห์เรน-ซาอุฯ”โตสูงสุด

 

โดยในรายละเอียดการส่งออก หมวดสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน มีมูลค่า 75,299 ล้านบาท -4.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าสำคัญยางพาราส่งออกลดลงเนื่องจากความต้องการใช้ถุงมือยางในจีนและมาเลเซียลดลง จากสถานการณ์โควิดที่ผ่อนคลาย ขณะที่ช่วง 11 เดือนแรก การส่งออกสินค้าเกษตรมีมูลค่า  852,391 ล้านบาท +3.5% สินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี เช่น ไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป, ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง,ทุเรียนสด และสับปะรดสด เป็นต้น

 

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เดือนพฤศจิกายน ส่งออกมูลค่า 66,234 ล้านบาท และ11 เดือนแรกมีมูลค่า732,685 ล้านบาท +20.6% สินค้าที่ขยายตัวดีได้แก่ น้ำตาลทราย, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และสินค้าดาวรุ่ง ได้แก่ ไอศกรีม ที่ขยายตัว 30 เดือนต่อเนื่อง โดยเดือนพฤศจิกายน ส่งออก 429 ล้านบาท +7.4% และ 11 เดือนแรกส่งออก 4,531 ล้านบาท +26.7%  และเครื่องดื่มเดือนพฤศจิกายนส่งออก 6,114 ล้านบาท +7.1% และ11 เดือนแรกส่งออก 63,161 ล้านบาท +3%  

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เดือนพฤศจิกายน ส่งออก 678,318 ล้านบาท -5.1%  และช่วง 11 เดือนแรก ส่งออก 7.20  ล้านล้านบาท  +6.5% สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด,รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ,รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ,เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ

 

ส่งออกไทย 11 เดือน 9.1 ล้านล้าน “อิรัก-บาห์เรน-ซาอุฯ”โตสูงสุด

 

โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัวสุงสุด 10 อันดับแรกในเดือนพฤศจิกายนได้แก่ อิรัก (+215.6%) บาห์เรน (+153.1%) ซาอุดีอาระเบีย (+40.1%) สหราชอาณาจักร (+22.2%) ลาว (+21.3%) เบลเยียม (+11.4%) เม็กซิโก(+10.5%) เมียนมา (+3.7%) สหรัฐ(+1.2%) และอินเดีย(+0.7%)

 

ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกที่สำคัญ มาจาก 1.การดำเนินงานอย่างเข้มข้นของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับเอกชน เช่น การลงนามขยายความร่วมมือด้านอี-คอมเมิร์ซกับจีน เป็นช่องทางนวัตกรรมทางการตลาดที่มีผลให้ตัวเลขการส่งออกไปจีนยังไปได้ และการเร่งรัดการเปิดด่านรอบประเทศจาก 97 ด่าน โดยเปิดแล้ว 72 ด่าน

 

2.ข้อมูลองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่าปี 2565 โลกจะนำเข้าอาหารมากขึ้นประมาณ 10% ส่งผลต่อการขยายตัวของการส่งออกไทยด้านอาหารตามไปด้วย 3.การเติบโตของ 5G รวมทั้ง เศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยให้ความต้องการสินค้าเทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟนมีมากขึ้น และ 4.สถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์(ชิป)เริ่มคลี่คลาย ทำให้ยานพาหนะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กลับมาดีขึ้น

 

ส่งออกไทย 11 เดือน 9.1 ล้านล้าน “อิรัก-บาห์เรน-ซาอุฯ”โตสูงสุด

 

ส่วนปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อส่งออก ที่อาจกระทบต่อเนื่องถึงช่วงปีหน้าคือ 1.ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว 2.ภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูง และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารต่างประเทศจะมีผลไปถึงปี 2566 ทำให้ความต้องการบริโภคอาจได้รับผลกระทบ

 

3.ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอื่น ๆ ยังไม่มีแนวโน้มยุติ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงจากพลังงาน อาหารสัตว์ และความต้องการบริโภคลดลง

 

ส่งออกไทย 11 เดือน 9.1 ล้านล้าน “อิรัก-บาห์เรน-ซาอุฯ”โตสูงสุด

 

ส่วนการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน(มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เมียนมา จีน เวียดนาม สิงคโปร์) ช่วง 11 เดือนแรกมีมูลค่ารวม 9.44 แสนล้านบาท -0.51%