นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ร้อยเอ็ด ได้จัดงานเทศกาลข้าวหอมมะลิโลกมาแล้ว 21 ครั้ง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จังหวัดร้อยเอ็ด จัดงานมหกรรมเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดร้อยเอ็ด เทศกาลข้าวหอมมะลิโลก ครั้งที่ 22 ร่วมกับ งาน Thai Rice Expo 2022 ระหว่างวันที่ 23- 25 ธันวาคม 2565 ณ ลานสาเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด อำเภอเมืองจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ ข้าวหอมมะลิให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการแสดงนิทรรศการ, งานแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย, การแสดง แสง สี เสียง และการแสดงศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตคนไทยกับข้าวหอมมะลิ โดยมีไฮไลท์เด่นของงาน เช่น บุญคูณลาน (สู่ขวัญข้าว) การแข่งขันซิดข้าว
นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงเครือข่ายผ่าน การเจรจาและบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ผลิต -ผู้ซื้อ และผู้ขาย, การแปรรูปเพิ่มมูลค่า และการเชื่อมโยงตลาด ข้าวหอมมะลิอย่างครบวงจร
จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นศูนย์กลางในการปลูกข้าวหอมมะลิในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ และของกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ (กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิในเขตทุ่งกุลาฯ ที่มากที่สุดใน 5 จังหวัดที่อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ โดยมีพื้นที่มากถึง 947,628 ไร่ ผลผลิตข้าวเปลือกมากถึง 340,198 ตัน เลยทีเดียว
เหตุผลที่ทำให้ข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นสินค้าอัตลักษณ์จับต้องได้ พบว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ทำให้ในฤดูฝนจึงเป็นพื้นที่รับน้ำที่หลากมาจากพื้นที่รอบๆ ขอบแอ่ง นำสารอาหารต่างๆ ลงมารวมกันเป็นวัตถุดิบในการสร้างสารหอมและเมล็ดข้าวที่มีลักษณะพิเศษ ความแตกต่างของสภาพอากาศในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ช่วงฤดูแล้งมีอากาศร้อน และแห้งแล้ง ช่วงฤดูฝนเมื่อเข้าสู่ฤดูปลูกข้าว มีความชื้นในอากาศสูงและอากาศร้อน ต้นข้าวมีการคายน้ำอย่างสม่ำเสมอ รากข้าวจะดูดน้ำในดินที่มีสารอาหารละลายอยู่ นำไปสร้างเมล็ดข้าวและสะสมความหอม
การที่ต้นข้าวดูดสารอาหารได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้การสร้างแป้งในเมล็ดข้าวมีความสมบูรณ์จับตัวกันแน่นไม่มีท้องไข่ ช่วงฤดูหนาวเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต จากอากาศร้อนชื้นจะเปลี่ยนเป็นอากาศเย็น อุณหภูมิลดลงทันที สภาพอากาศแห้ง ทำให้แป้งข้าวที่เริ่มเต็มเมล็ดจับตัวกันแน่นค่อย ๆ คายความชื้นออก เมล็ดข้าวจึงมีความเลื่อมมันและเมล็ดขาวใส โดยกลิ่นข้าวหอมมะลิในทุ่งนาจะส่งกลิ่นหอมมากในช่วงเวลา 13.00-14.00 น. โดยเฉพาะในระยะเก็บเกี่ยว ข้าวหอมมะลิจะสร้างสารหอม ที่ชื่อ 2AP มากที่สุด และพบว่าในนาดินทราย ที่ดินมีความเค็มเล็กน้อย สารหอม 2AP ยิ่งจะเพิ่มขึ้นมาก ในลักษณะทางกายภาพดังกล่าวนี้ ทำให้ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในเขตทุ่งกุลาร้องไห้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้ ด ที่นำเสนอภายในงาน นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวนา จ.ร้อยเอ็ด ทุกคน
“การทำการเกษตร และการปลูกข้าวต่อไปนี้ต้องเน้น เรื่อง การผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ได้มาตรฐานสูง และก่อให้เกิดรายได้สูง” นี่เป็นความตั้งใจของคณะผู้จัดงาน ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ “ร้อยเอ็ดเมืองเกษตรอัจฉริยะ ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ วัฒนธรรมสร้างมูลค่า สังคมพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ในการจัดงานที่ผ่านมา มีการจัดแสดงสินค้านิทรรศการเทคโนโลยี นวัตกรรม การฝึกอบรมหลักสูตรการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวหอมมะลิ การเสวนาวิชาการในด้านการรักษาคุณภาพ และความหอมของข้าวหอมมะลิจังหวัดร้อยเอ็ด และเกษตรกรรมยั่งยืน จากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การจำหน่ายข้าวหอมมะลิ ตลอดจนผลิตภัณฑ์จากข้าวหอมมะลิ และสินค้าเกษตรต่าง ๆ จากผู้ประกอบการ องค์กรเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กลุ่ม OTOP กลุ่มสหกรณ์การเกษตร Smart Farmer, Young Smart Famer และการจำหน่ายปัจจัยการผลิต นวัตกรรม
ตลอดจนเทคโนโลยี การผลิตและการแปรรูปข้าวของผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร การสาธิตการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในการผลิตข้าวในยุคดิจิตัล ซึ่งนอกจากจะนำเสนอรูปแบบการผลิตแบบวิถีชาวทุ่งกุลาร้องไห้แบบดั้งเดิม ยังมีการนำเสนอการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการผลิต เช่น การใช้โดรนการเกษตร และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยเครื่องจักรของอุตสาหกรรม
ข้าวมีความผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมาช้านาน (นานกว่า 5,500 ปีเลยนะ) เรากินข้าวเป็นอาหารหลัก นอกจากนั้น ข้าวยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในพิธีกรรมต่าง ๆ ข้าวมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทย เป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของประเทศไทย ไทยเรามีกิจกรรมพิธีบวงสรวงแม่โพสพ ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติตามความเชื่อ โดยชาวนาทุกคนเชื่อว่า แม่โพสพมีพระคุณต่อชีวิตของชาวนา สืบต่อเนื่องจากรุ่นปู่ย่าตายายมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
ชาวนามีพิธีกรรมสืบสานมรดกประเพณีด้านข้าวในแต่ละท้องถิ่นต่อ ๆ กันมา การประกอบพิธีกรรมบวงสรวงแม่โพสพ หรือทำขวัญข้าว เป็นการกล่าวขอขมาต่อต้นข้าว โดยเชื่อกันว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับข้าว ทั้งการเกิดเองตามธรรมชาติ และจากการที่มนุษย์จะกระทำอะไรก็ตามกับต้นข้าว