จากที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ร่วมกับผู้ประกอบการ 16 ราย ประกอบด้วย ผู้รวบรวม 8 ราย ผู้ประกอบการแปรรูป 4 รายและตลาดกลาง 4 ราย ได้คิกออฟรับซื้อพืช 3 หัวถึงแหล่งผลิต ได้แก่ หอมหัวใหญ่ หอมแดง และกระเทียม ณ สหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่บ้านกาดพัฒนา จำกัด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ มีนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน เมื่อ 27 มกราคม 2566
ทั้งนี้ได้เข้าไปดำเนินการรับซื้อผลผลิตถึงแหล่งปลูกในราคานำตลาดในช่วงต้นฤดูการผลิตเพื่อกระจายสู่ห้างค้าส่ง-ค้าปลีกและสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 4 แห่ง รวม 1,318 สาขา ตลอดจนร้านธงฟ้าอีก 1 หมื่นร้านค้าที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต”ของรัฐบาล ผ่าน “อมก๋อยโมเดล”ที่ริเริ่มโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดถึงคิวของ “กระเทียม”แม่ฮ่องสอน ที่ในสัปดาห์นี้ผู้ประกอบการได้เข้าไปรับซื้อผลผลิตถึงแหล่งปลูก
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เผยว่า ในปี 2566 ทางกรมฯมีเป้าหมายซื้อกระเทียมล่วงหน้าพร้อมทำสัญญาในราคานำตลาดจำนวน 64,891 ตัน จากแหล่งปลูกสำคัญใน 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูน โดยช่วงสัปดาห์นี้จะมุ่งเป้าไปที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากผลผลิตกระเทียมเริ่มออกสู่ตลาดก่อนพื้นที่อื่น ปัจจุบันทางกรมได้ร่วมกับผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อล่วงหน้าในราคานำตลาด ในส่วนของแม่ฮ่องสอนได้รับซื้อแล้ว กระเทียม 3,700 ตัน เชียงใหม่ 3,000 ตัน และลำพูน 1,300 ตัน ทำให้กระแสความต้องการมากขึ้น ตลาดคึกคักขึ้น
“ที่อำเภอปายตอนนี้เริ่มแล้ว ผู้ประกอบการที่เราเชื่อมโยงได้ เข้าไปรับซื้อในราคายี่สิบบาทต่อกิโลฯ จากเมื่อก่อนไม่มีใครไปซื้อตั้งแต่ต้นฤดู แต่จะรอให้ผลผลิตออกมามากแล้วค่อยไปซื้อกดราคา เกษตรกรจะเก็บก็เก็บไปไม่รู้อนาคต แต่ตอนนี้พอเก็บผลผลิตปุ๊บ ก็มีคนมาแย่งซื้อปั๊บ”นายกรนิจกล่าว
ขณะที่ หนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ 16 รายที่ร่วมโครงการกับกรมการค้าภายในเข้าไปรับซื้อกระเทียมถึงแหล่งปลูกในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ผลผลิตกระเทียมของอำเภอปายเริ่มให้ผลผลิตก่อนอำเภออื่นในพื้นที่ ซึ่งคุณภาพกระเทียมแม่ฮ่องสอนปีนี้ดีมาก ซึ่งผู้ประกอบได้เริ่มรับซื้อที่อำเภอปาย จากนั้นจะทยอยรับซื้อไปเรื่อย ๆ ในอำเภออื่น ๆ (แม่ฮ่องสอนมีแหล่งปลูกกระเทียมหลักอยู่ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ปาย และอ.ขุนยวม) ซึ่งราคากระเทียมปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 20-25 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) อย่างไรก็ตามกระเทียมของแม่ฮ่องสอน ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงต้นฤดู ผลผลิตจะออกมามากราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม
“เวลานี้พวกคนกลางตื่นตัวกันมาก โทรหากันวุ่นว่าขายที่ไหน ขายให้ใคร เขาจะเก็บมาขายบ้าง ส่วนเราจะไม่รับซื้อจากคนกลาง แต่จะซื้อจากเกษตรกรตัวจริงเท่านั้น” แหล่งข่าวกล่าว
ด้าน นางนันทนา พรมพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เมืองแปง อำเภอปาย ในฐานะประธานแปลงใหญ่กระเทียมอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม ส่งผลให้ราคากระเทียมปีนี้ที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยเวลานี้กระเทียมสดที่ผู้ประกอบการเข้ามารับซื้ออยู่ที่ 20 กว่าบาทต่อ กก.ซึ่งเวลานี้เป็นช่วงต้นฤดูผลผลิตยังออกมาไม่มาก ต้องรอดูช่วงเดือนมีนาคมที่ผลผลิตจะออกมามากว่าราคาจะอยู่ที่เท่าไร
สำหรับจุดเด่นกระเทียมแม่ฮ่องสอน ถือเป็นสุดยอดของกระเทียมไทยต่างจากที่อื่น โดยมีสีม่วง กลิ่นฉุน เปลือกบาง ไม่ฝ่อง่าย เก็บไว้ได้นาน จากการวิจัยพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระสูงช่วยยับยั้งและป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ดี ปัญหากระเทียมของอำเภอปายในปัจจุบัน นอกจากพื้นที่ปลูกลดลงทุกปีประมาณ 20% แล้ว ยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าพันธุ์ และอื่น ๆ
ขณะที่ส่วนหนึ่งมีบริษัทตัวแทนผู้ซื้อหรือพ่อค้าคนกลางมาลงทุนให้กับเกษตรกร พร้อมทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า เวลาขายก็ต้องขายให้กับพ่อค้าคนกลาง จากเกษตรกรไม่มีเงินลงทุนเอง โดยพ่อค้าลงทุนให้ก่อนแล้วค่อยหักลบกลบหนี้ตอนขายผลผลิต ทำให้ขายได้ราคาต่ำ เหล่านี้คือปัญหาหลัก ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นวิธีแก้รัฐบาลต้องหาแหล่งทุนให้เกษตรกร หรือกระทรวงพาณิชย์ต้องหาบริษัท/ผู้ประกอบการเข้ามาช่วยตั้งแต่ต้น เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์สูงสุด
อนึ่ง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ได้คาดการณ์ผลผลิตกระเทียมของไทย ในฤดูการผลิตปี 2566 คาดจะมีผลผลิตประมาณ 64,891 ตัน พื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศอยู่ที่ 61,563 ไร่ แหล่งปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ โดยจังหวัดเชียงใหม่ ให้ผลผลิตมากที่สุด 25,556 ตัน รองลงมา คือ แม่ฮ่องสอน 20,837 ตัน ลำพูน 1,925 ตัน และพื้นที่อื่น ๆ อีก 16,573 ตัน