ธ.ก.ส. ยกระดับสถาบันการเงินชุมชน แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน

25 ก.พ. 2566 | 07:44 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2566 | 07:50 น.

ธ.ก.ส. ยกระดับสถาบันการเงินชุมชนในการบริหารจัดการเงินและร่วมแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน พร้อมเติมทุนหนุนการสร้างงาน สร้างรายได้

นายสุภาษิต ศุภวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มุ่งมั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพสถาบันการเงินชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการเงินภายในชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถทำหน้าที่ดูแลและสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับสมาชิก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน สนับสนุนให้สมาชิกสร้างวินัยในการออมเงินและยึดหลักการพึ่งพาอาศัยกันในชุมชน รวมถึงส่งเสริมให้สมาชิกสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับการใช้จ่ายและลงทุน

ธ.ก.ส. ยกระดับสถาบันการเงินชุมชน แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน

เพื่อป้องกันการพึ่งพาหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้สถาบันการเงินชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสมาชิกที่มีหนี้สินอันเป็นภาระหนักที่เกิดจากเหตุสุจริตและจำเป็น ให้สามารถกลับมาฟื้นตัวในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

สำหรับสถาบันการเงินชุมชนตำบลโพธิ์หมากแข้ง จังหวัดบึงกาฬ เป็นองค์กรที่ ธ.ก.ส. และองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์หมากแข้ง ร่วมสนับสนุน เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการเงินในชุมชนอย่างครบวงจร ทั้งด้านการฝาก - ถอนเงิน  การสนับสนุนสินเชื่อในการลงทุนและเสริมสภาพคล่อง โดยในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สมาชิกในชุมชนกว่า 850 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบด้านการประกอบอาชีพและขาดรายได้ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้สถาบันการเงินชุมชนได้ตามกำหนด ก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)

ธ.ก.ส. ยกระดับสถาบันการเงินชุมชน แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน

ธ.ก.ส. จึงเข้าไปดูแลเพื่อลดความกังวลในเรื่องหนี้ ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้ของสมาชิก มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรวบรวมข้อมูลด้านการประกอบอาชีพและรายได้ของสมาชิก เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลหาสาเหตุและวางแผนหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สิน มีการเติมทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปใช้ลงทุนประกอบอาชีพ สร้างรายได้และนำมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ทำให้สถาบันการเงินชุมชนสามารถดำเนินงานได้ตามปกติและสมาชิกสามารถก้าวข้ามกับดักหนี้ไปได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้มีการขับเคลื่อนงานดังกล่าว ภายใต้ยุทธศาสตร์ การพัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนภายใต้ BCG Model พร้อมวางเป้าหมายหนุนองค์กรการเงินชุมชนกว่า 243 แห่ง เพื่อยกระดับไปสู่การเป็นสถาบันการเงินประชาชนที่สามารถอำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชนได้อย่างแท้จริง