น.สพ.ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” วันพรุ่งนี้ (2 มี.ค.66) กรมปศุสัตว์จะเปิดชี้แจงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ปีการศึกษา 2566 ซึ่งไม่ใช่การประชาพิจารณ์ แต่เป็นการชี้แจงขั้นตอนการกรอกเอกสาร โดยจะเริ่มเวลา 10.00 น.ผ่านทางโปรแกรมซูม (Zoom Meeting) เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ซึ่งในความจริงแต่ละรายได้เตรียมเอกสารกันทั้งหมดแล้ว แต่ปรากฎมีหลายกลุ่มยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่เข้าใจจึงต้องมีการชี้แจงอธิบายในรายละเอียด เช่น ช่องที่ 1 กรอกอย่างไร ช่อง 2 กรอกอย่างไร กรณีที่มีเอกสารแนบหลักฐานประกอบจะทำอย่างไร อาทิ สัญญาใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น
“ยืนยันว่าไม่ใช่การประชาพิจารณ์ เนื่องจากเราใช้หลักเกณฑ์ของปีที่แล้ว และจากนโยบายของนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เห็นว่ามีกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นเกษตรกรที่เลี้ยงโคนมขายน้ำนมดิบให้แก่สหกรณ์ ได้มีการร้องขอชี้แจงและเตรียมเอกสารให้ถูกต้อง โดยท่านปลัดฯ ดำริว่าหากไม่ขัดกับหลักกฎหมายก็ไม่กระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่เมื่อเกิดข้อร้องเรียนก็ต้องให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นแนวนโยบายการทำงานของท่านปลัดฯกับอธิบดีสอดรับกันอยู่แล้ว ทั้งนี้จะขยายการรับสมัครไปถึงวันที่ 7 มีนาคม 2566 โดยในวันพรุ่งนี้กรมปศุสัตว์จะทำหนังสือถึงปลัดเกษตรฯเพื่อลงนามต่อไป”
ขณะอีกด้าน นายนครินทร์ สีวงกต ประธานกรรมการ สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด และ นายอำนวย ทงก๊ก ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น ให้ความเห็นสอดคล้องกัน โดยสนับสนุนหลักเกณฑ์ใหม่ ประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 เพื่อให้เกษตรกรได้ขายน้ำนมดิบทุกหยด ชี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ดีที่สุด
อนึ่ง โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปี 2566 โดยนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ลงนามเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 ก่อนหน้านี้มีการ เปิดรับสมัคร วันที่ 27 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2566
ทั้งนี้เงื่อนไขการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม มีสาระสำคัญคือ
1,ในสัญญาซื้อขายน้ำนมโคของ โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2565 แยกประเภทการรับซื้อน้ำนมโค โดยแยกประเภทการใช้ประโยชน์ ดังนี้
-ใช้ผลิตเป็นนมพาณิชย์ภายใต้ตราสินค้าของผู้ประกอบการเอง
-ใช้ผลิตเป็นนมพาณิชย์ภายใต้ตราสินค้าของผู้ประกอบการที่จ้างผลิต
-ใช้ขอโควตานำเข้านมผงขาดมันเนยกับกรมปศุสัตว์
-จำหน่ายเป็นน้ำนมดิบส่งให้ผู้ประกอบการอื่นที่เป็นคู่ค้า
ทั้งนี้หากข้อมูลตามวรรคหนึ่งไม่สามารถยืนยันปริมาณสุทธิได้ให้นำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยตรวจสอบ เช่น กรมสรรพากร กระทรวงพาณิชย์ หรือสมาคมอุตสาหกรรมอาหารนมไทย (สอนท.) หรือให้ผู้ประกอบการจัดการส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม หรือเชิญให้มาชี้แจงก็ได้ โดยสัญญาซื้อขายน้ำนมดิบ จะต้องมีใบส่งมอบน้ำนมโค ที่แสดงทั้งปริมาณ จำนวนเงินที่ซื้อขาย และงบการเงินที่แสดงให้เห็นรายได้จากน้ำนมโคที่ได้นำไปใช้ประโยชน์แล้ว
รวมทั้งแผนบริหารจัดการน้ำนมโคที่รับซื้อจากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ/หรือศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบคู่สัญญาตลอด 365 วัน แต่หากตรวจสอบภายหลังไม่ได้ปฎิบัติตามแผนการบริหารจัดการน้ำนมโค โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรจะถูกลงโทษในปีการศึกษาถัดไป ดังนั้นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมต้องดำเนินการยื่นแบบให้ครบถ้วนและถูกต้องก่อนยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการ หากพ้นระยะเวลาการยื่นแบบแสดงคุณสมบัติจะไม่มีการรับเอกสารหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติม