วันที่ 22 มีนาคม 2566 นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เครือข่ายสหกรณ์ ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด ,สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด,สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด,สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด แจ้งประกาศราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกร 3.60 บาท (น้ำหนัก 20.5 กิโลกรัมขึ้นไป) เพิ่มขึ้น 20 สตางค์ มีผลวันที่ 23 มีนาคม 2566 สาเหตุมาจาก 2 ปัจจัย อากาศร้อน ไข่ไก่ลดลง แล้วก็เกษตรกรปลดไก่ แล้วไม่มีเงินนำแม่ไก่มาเลี้ยงต่อทำให้ราคาไข่ไก่ปรับตัวขึ้น
แหล่งข่าวจากวงการค้าไข่ไก่ กล่าวว่า ผลจากปรับราคาขึ้น 20 สตางค์/ฟอง(6 บาท/แผง) ซึ่งราคาก่อนหน้านี้ที่ได้มีการปรับขึ้น ผู้เลี้ยงทางภาคใต้ส่วนใหญ่ยังใช้ราคาเดิม หากประเมินทั่วประเทศ ราคาหน้าฟาร์มประมาณ 70% ก็ไม่ได้ปรับราคาขึ้นตามราคาประกาศ ผู้ค้ายังแย่โดยเฉพาะผู้ค้า (ล้ง) รายใหญ่ยังได้ราคาจากฟาร์ม 3.10 บาทต่อฟองอยู่เลย ราคาจะขึ้นอย่างไร
"ส่วนทางฟาร์มอุดรธานี ราคาก็ไม่ยอมปรับขึ้น แล้วจังหวัดสุพรรณบุรี ฟาร์มบางแห่งก็ไม่ยอมปรับราคาขึ้น ดังนั้นในช่วงนี้ไม่ต้องรู้ราคาแล้ว ขายได้ราคาไหนขายราคานั้น เอาแบบนี้ดีกว่า"
นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะ “มิสเตอร์ไข่ไก่” กล่าวว่า ราคาไข่ไก่ไม่ได้มีการควบคุม หน่วยงานที่ดูแลเป็นกรมการค้าภายใน กรมปศุสัตว์จะดูแลฝ่ายผลิต หากเกษตรกรขายได้ราคาดีก็เป็นเรื่องน่ายินดีอยู่แล้ว แต่ก็เป็นห่วงผู้บริโภคที่จะต้องมีค่าครองชีพเพิ่มขึ้น