เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 กรมปศุสัตว์ ได้เชิญสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยนำโดยนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย (Thai Pet Food Trade Association)บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)และผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง โดยมีศรีสุนันท์ พวงอินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนไก่งวงราชบุรี ร่วมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ไก่งวง ได้ข้อสรุปจะมีการรับซื้อไก่งวงแช่แข็งที่ค้างสต๊อกทั้งหมดประมาณ 40 ตัน พร้อมทั้งวางแผนการตลาดในอนาคตร่วมกันอย่างยั่งยืน
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ตามที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงประสบปัญหาด้านการตลาด ทำให้ปัจจุบันมีไก่งวงที่แช่แข็งค้างสต๊อกอยู่ในห้องเย็นน้ำหนักประมาณ 40 ตัน ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเกษตรกรในกลุ่มเครือข่ายที่กำลังเลี้ยงและรอส่งเชือดชำแหละในหลายพื้นที่ กรมปศุสัตว์จึงได้ประสานไปยังผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเพื่อรับซื้อและวางแผนการตลาดร่วมกันในวันนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ในการตกลงร่วมกันกับผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง จะรับซื้อไก่งวงที่ค้างสต๊อกไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (Petfood)
ส่วนของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จะนำไก่งวงแช่แข็งไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภครวมถึงวางแผนการรับซื้อไก่งวงมีชีวิตที่รอเข้าโรงเชือด ส่งผลให้มีการระบายไก่งวงที่แช่แข็งค้างสต๊อกออกไปได้ทั้งหมด เป็นการบรรเทาปัญหาของเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงไก่งวง ส่วนในระยะยาวได้ร่วมกันจัดทำแผนการผลิต การตลาด ให้เหมาะสมต่อความต้องการของตลาด
ในส่วนของกรมปศุสัตว์ได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง โดยการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานให้กับเกษตรกร เพื่อให้สามารถได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มไก่งวงแบบปล่อยอิสระ (Free range) ประสานโรงฆ่าสัตว์เพื่อยกระดับการฆ่าสัตว์ให้ได้มาตรฐาน เพื่อการส่งออกไก่งวงเจรจาการเปิดตลาดต่างประเทศเพื่อขยายโอกาสการส่งออกเนื้อไก่งวงและผลิตภัณฑ์
รวมทั้งมีการฝึกอบรม ส่งเสริมให้มีการแปรรูปเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า อาทิเช่น ไส้กรอก ไก่จ๊อ เป็นต้น นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังได้ประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอให้ช่วยหาตลาดในประเทศและตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย
“กรมปศุสัตว์ ยืนยันว่า พร้อมให้การสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงภายใต้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
ด้านนางสาวดวงดาว สอนพิมพ์ วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านหนองกระบอก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” “เรื่องไก่งวง ความเป็นจริงกรมปศุสัตว์สนับสนุนให้เลี้ยง แต่พอส่งเสริมเสร็จ ทางกรมก็ไม่มีตลาดให้ แล้วก็ไม่คาดคิดว่าทางเกษตรกรจะทำตลาดจนกระทั่งมีการส่งออกต่างประเทศได้ พอหลายประเทศมีความต้องการมาก แต่ทางกรมก็ไม่สามารถออกหนังสือรับรองมาตรฐานให้ได้ ก็ส่งผลทำให้มีปัญหาต่ออเนื่อง ก่อนหน้านั้นก็ยอมรับว่ามีการส่งออกแบบไม่ถูกต้องในปริมาณที่ไม่มาก แต่พอตลาดมีความต้องการสูง ก็จึงเข้าไปขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยเหลือ ล่าสุดทางกรมก็ยอมรับผิดพร้อมกับให้ความช่วยเหลือเรื่องการระบายไก่งวงและการส่งส่งเสริม อย่างที่อธิบดีให้ข่าว โดยมีตัวแทนทางจังหวัดราชบุรี ที่จะเป็นคนทำสัญญา ก็ต้องดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
“ 44 ตัน เป็นเนื้อที่แช่แข็งตั้งแต่ใกล้สิ้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากทางกรมยังไม่อนุญาตให้เราจำหน่าย ในตอนนั้น แต่ตอนนี้ก็ขอดูเอกสารก่อน และการพูดคุยเบื้องต้นอาจจะยังไม่ชัดเจน แต่การประชุมก็คือเป็นข้อมูลที่อ้างอิงได้ว่าท่าน และบริษัทซีพี ด้วยจะให้ความช่วยเหลือรับซื้อไก่งวงเอาไปทำอาหาร และอาหารสัตว์สำหรับสัตว์เลี้ยงโดยจะมีการแปรรูปเป็นกระป๋อง เพราะรอบหนึ่งการผลิต เฉลี่ยเดือนละ 3-4 ตัน แต่ตอนนี้หนักในเรื่องภาระค่าใช้จ่ายค่าเช่าห้องเย็นเดือนละ 6 หมื่นกว่าบาท เกษตรกรเองก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน แล้วเกษตรกรที่ขายไก่ให้ก็อยากที่จะได้เงินไปจับจ่ายหมุนเวียนไปใช้ ทั้งค่าอาหารสัตว์เลี้ยง และหนี้สินที่กู้มาเพื่อประกอบธุรกิจในส่วนนี้ก็มีปัญหาค่อนข้างหนักเลย จึงวอนผู้ใหญ่ให้เอ็นดูและสงสารช่วยด้วย ล่าสุดก็ได้รับความช่วยเหลือจึงขอขอบคุณอธิบดีกรมปศุสัตว์และซีพีฯ ที่ช่วยเหลือทำให้มั่นใจในอนาคตคาดว่าจะมีตลาดรองรับ“