ชี้ช่อง-สร้างโอกาส "อาหารทะเลไทย" ในฟินแลนด์

28 มี.ค. 2566 | 01:15 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มี.ค. 2566 | 01:36 น.

ฟินแลนด์นำเข้าเนื้อปลากว่า 80% และทำการประมงในประเทศเองเพียง 20% เปิดโอกาสสำหรับการทำตลาด “อาหารทะเลไทย” ในฟินแลนด์

 

กฎหมายแรงงานของ ฟินแลนด์ มีความเข้มงวดและรัดกุมมาก ประกอบกับสหภาพแรงงานของฟินแลนด์มีความเข้มแข็ง จึงส่งผลให้ต้นทุนด้าน การประมงและอาหารทะเล หรือการลงทุนฟาร์มปลามีต้นทุนที่สูงกว่า การนำเข้าเนื้อปลาจากต่างประเทศ

เมื่อปี 2565 ราคาของเนื้อปลาและสินค้าประเภทอาหารทะเลและประมงในฟินแลนด์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งทำให้ยอดขายลดลงถึง 52%

ทั้งนี้ ฟินแลนด์นำเข้าเนื้อปลาจากประเทศนอร์เวย์มากที่สุด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70% ของการนำเข้าทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 438 ล้านยูโร อาทิ ปลาแซลมอนทะเลทั้งตัว ประเทศอื่น ๆ ลำดับรองจากนอร์เวย์ ได้แก่

  • สวีเดน (50 ล้านยูโร)
  • เดนมาร์ก (17 ล้านยูโร)
  • และโปแลนด์ (15 ล้านยูโร)

นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังนำเข้าปลาแฮร์ริ่งแปรรูป และปลาแฮรริ่งหมักจากทั้งนอร์เวย์และเดนมาร์ก และนำเข้ากุ้งจากเวียดนามอีกด้วย

ฟินแลนด์นำเข้าเนื้อปลาจากประเทศนอร์เวย์มากที่สุด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70% ของการนำเข้าทั้งหมด

ในปีที่ผ่านมา (2565) ฟินแลนด์นำเข้าปลา ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลา และอาหารทะเลจากไทย คิดเป็นมูลค่ารวม 11.3 ล้านยูโร และไทยยังเป็นประเทศนอกอียูที่ส่งออกปลา ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลา และอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดมายังฟินแลนด์ โดยมีเวียดนามตามมาเป็นลำดับที่ 2

ปัจจัยหนุนอาหารทะเลไทย

ถึงแม้นอร์เวย์จะเป็นผู้นำตลาดด้านการส่งออกปลาแซลมอนมายังฟินแลนด์ แต่เนื่องจากราคาเนื้อปลาแซลมอนสูงขึ้นทั่วโลกสาเหตุจากอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นทำให้เนื้อปลาพร้อมจำหน่ายน้อยลง ประกอบกับภาวะสงครามรัสเซีย - ยูเครน และภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังโควิด 19 ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารทั่วโลก ตลอดจนเมื่อคำนึงถึงสถิติของฟินแลนด์ที่มีความต้องการการนำเข้ากุ้งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

ดังนั้น การนำเข้าเนื้อปลา กุ้ง หรือผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป เช่น ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีน กุ้งแปรรูป กุ้งและปลาหมึก จากไทย เข้าสู่ตลาดในฟินแลนด์และประเทศอื่นในนอร์ดิกและบอลติก จึงเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนไทยควรพิจารณา จากเหตุปัจจัยที่สำคัญที่กล่าวมาข้างต้น

ในปี 2568 ความต้องการบริโภคปลาและอาหารทะเลของโลกจะอยู่ที่ประมาณ 21.8 กิโลกรัมต่อคน

กอปรกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2568 ความต้องการบริโภคปลาและอาหารทะเลของโลกจะอยู่ที่ประมาณ 21.8 กิโลกรัมต่อคน เพิ่มขึ้นจาก 20.3 กิโลกรัมต่อคนในปี 2558 บริษัทที่มีสายป่านยาวของไทยอาจพิจารณาควบรวมบริษัทแปรรูปปลาและอาหารทะเลในฟินแลนด์ รวมถึงอาจพิจารณาลงทุนสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงปลา กุ้ง ในระบบปิดในฟินแลนด์ เนื่องจากซึ่งฟินแลนด์สามารถเป็นฐานส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยัง ประเทศนอร์ดิก บอลติก และยุโรปตะวันออกได้

นอกจากนี้ ด้วยวัฒนธรรมการรับประทานอาหารแบบทานปลาในลักษณะ fillets ซึ่งไทยมี “ปลานิล” ที่มีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ และสามารถส่งออกไปในลักษณะของปลาแล่เนื้อ เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการเพาะเลี้ยงปลานิลของไทยที่ได้มากกว่า 2 แสนตันต่อปี ดังนั้น ภาคราชการและธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวอาจพิจารณาส่งออกปลานิลแล่และปลานิลสดให้กับประเทศยุโรป ที่มีระยะทางใกล้กว่าอเมริกาและลาตินอเมริกา

ทั้งนี้ การขยายตลาดปลานิลในสหภาพยุโรป (EU) ยังไม่กว้างขวางมากนักเนื่องจากเวียดนามยังส่งออกปลาน้ำจืดชนิดอื่น ๆ เข้าไปยังตลาดยุโรป เช่น ปลาในตระกูล catfish (ปลาดุก) pangasius (ปลาสวาย ปลาเทพา) และ nile perch (ปลาตระกูลปลาหมอ) และแม้ว่าเวียดนามจะมี FTA กับอียูแล้ว แต่การส่งออกปลาและอาหารทะเลยังเป็นลำดับ 2 รองจากไทย รวมถึงภายหลัง EU ได้ประกาศปลดสถานะใบเหลืองของภาคประมงไทย เพื่อแสดงการยอมรับต่อความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาการทำประมงของไทย ไทยจึงยังรักษาสถานะของการส่งออกอาหารกระป๋องและแปรรูปประเภทปลาและอาหารทะเลให้ยังคงสถานะ “champion products” ได้เมื่อปีที่ผ่านมา

 

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ  ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ