“อลงกรณ์”ร่วมเวทียูเอ็น ชู “BCG โมเดล-เกษตร 3 สูง” สร้างความยั่งยืน

30 มี.ค. 2566 | 07:35 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2566 | 07:46 น.

“อลงกรณ์” กล่าวสุนทรพจน์เวทีสหประชาชาติ ชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG พัฒนาเศรษฐกิจไทยยั่งยืน มุ่งพัฒนาภาคการเกษตรสู่ 3 สูง "ประสิทธิภาพสูง-มาตรฐานสูง-รายได้สูง" พร้อมจับมือนานาชาติไม่ทิ้งไว้ข้างหลัง

รายงานข่าว (30 มี.ค.2566 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนกล่าวเปิดงานร่วมกับนายจองจินคิม ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นายคาเวห์ ซาฮีดี รองผู้อำนวยการองค์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ(ESCAP)และนายสเตฟาโน โฟเธาว์ผู้ประสานงานระบบอาหารโลกของสหประชาชาติ(UN)

โดยนายอลงกรณ์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ภายใต้หัวข้อ การปฏิรูประบบอาหารในเอเชียและแปซิฟิก : การประเมินความคืบหน้าระบบอาหารระดับภูมิภาคเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ( The Regional Food Systems Stocktaking ) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติกรุงเทพฯ ว่า ในนามของรัฐบาลไทยขอขอบคุณพันธมิตรนานาประเทศ ที่ร่วมกันแลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวทางในการพลิกโฉมระบบอาหารและการเกษตร การจัดทำรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก เพื่อให้โลกของเราสามารถผ่านพ้นวิกฤติและสร้างความเข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืนให้ภาคเกษตรและอาหาร และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2030

“อลงกรณ์”ร่วมเวทียูเอ็น ชู “BCG โมเดล-เกษตร 3 สูง” สร้างความยั่งยืน

 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการร่วมกิจกรรมของการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลกมาตลอด และกำลังจัดทำรายงานความก้าวหน้า( Food and Agriculture Stocktaking )เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม Food and Agriculture Stocktaking Moment ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ และจัดเตรียมสำหรับการประชุมสุดยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDG Summit)ในเดือนกันยายน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เชิญชวนภาคีเครือข่าย พันธมิตรนานาชาติ ที่ได้ร่วมดำเนินโครงการด้านเกษตรและอาหารในประเทศไทยจัดส่งข้อมูลเพื่อรวบรวมในการจัดทำ Food and Agriculture Stocktaking ของประเทศไทย และได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารให้ยั่งยืน ยืดหยุ่น และเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านการสนับสนุนทางด้านการเงิน ข้อมูลวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยได้นำนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สร้างสมดุลสู่ความยั่งยืน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำมาปรับใช้เพื่อขับเคลื่อนระบบเกษตรและอาหารให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

“อลงกรณ์”ร่วมเวทียูเอ็น ชู “BCG โมเดล-เกษตร 3 สูง” สร้างความยั่งยืน

ทั้งนี้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืนทั้ง 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างสมดุลและยั่งยืน มีการบูรณาการและการพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสร้างคุณค่าเพิ่ม จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม

“อลงกรณ์”ร่วมเวทียูเอ็น ชู “BCG โมเดล-เกษตร 3 สูง” สร้างความยั่งยืน

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งพัฒนาภาคการเกษตรสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง โดยการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ โดยนำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการขับเคลื่อนทุกโครงการที่ดำเนินงานอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย

“ขอเน้นย้ำว่า เส้นทางสู่ระบบอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน ต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้าง ในทุกระดับ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมและยินดีแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการที่ไทยมีศักยภาพให้แก่ประเทศสมาชิกในภูมิภาค และหวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้ จะสามารถเป็นเวทีให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนต่อไป และเราทุกคนจะไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายอลงกรณ์ กล่าว

“อลงกรณ์”ร่วมเวทียูเอ็น ชู “BCG โมเดล-เกษตร 3 สูง” สร้างความยั่งยืน