“ตราด”เปิดประตู 4 ด้าน บูมค้าชายแดน-ท่องเที่ยว

25 พ.ค. 2566 | 07:29 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2566 | 07:42 น.

ตราด เปิดประตู 4 ด้าน ทางบก-น้ำ -อากาศ-และราง ดันค้าชายแดนทุกด้าน ขณะที่หอการค้า แนะรัฐแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนักท่องเที่ยว

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยว่า จังหวัดตราดมีศักยภาพสูงทางด้านภูมิศาสตร์ เพราะมีพื้นที่ติดชายแดนไทยกัมพูชา ด้านอำเภอบ่อไร่ติดกับอำเภอสำรูด จ.พระตะบอง

ปัจจุบันมีจุดผ่อนปรนการค้า ด้านอำเภอเมือง ติดกับอ.เวียงเวล จ.โพธิสัต ที่ยังเป็นช่องทางธรรมชาติ มีความพยายามยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวร และอำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด ติดกับอำเภอมณฑลเสมา จ.เกาะกง ปัจจุบันเป็นจุดผ่านแดนถาวร การค้าขายระหว่างกันมูลค่ากว่า 3.8 หมื่นล้าน/ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี 

“ตราด”เปิดประตู 4 ด้าน บูมค้าชายแดน-ท่องเที่ยว

ทั้งนี้ รายได้ของจังหวัดตราดมาจากแหล่งท่องเที่ยวด้านชายทะเล สร้างรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวเกิน 2 หมื่นล้านบาท/ปี   และรายได้จากผลิตผลทางการเกษตรเช่น ทุเรียน มังคุด เงาะหรือสับปะรด  ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มูลค่าทั้งส่งออกและจำหน่ายในประเทศเกิน 1 หมื่นล้านบาท/ปี ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดตราดอยู่ในระดับที่ 15 ของประเทศ 

นายชำนาญวิทย์  กล่าวว่า จังหวัดตราดจึงผลักดันเพิ่มเส้นทางด้านชายแดน 2 จุด คือ จุดแรกด่านบ้านท่าเส้นยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวร จะสามารถเดินทางไปยังเกาะกง โพธิสัตว์ หรือจังหวัดอื่นๆได้ แต่ติดปัญหาเรื่องความมั่นคง และเรื่อง MOU 43 ข้อที่ 5 ที่ 2 ประเทศมีปัญหาเรื่องเขตแดน

ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้ชะลอเรื่องนี้ไปก่อน รวมทั้งการเปิดตลาดการค้าชายแดนและคาราวานสินค้าเข้าไปในกัมพูชา หากเปิดได้จะเกิดผลดีทั้งในเรื่องการค้าชายแดน และการค้าทั่วไป เพราะชาวจีนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้มีกำลังซื้อมาก อาจถึงแสนล้าน/ปี 

“ตราด”เปิดประตู 4 ด้าน บูมค้าชายแดน-ท่องเที่ยว

จุดที่สอง ผลักดันให้ยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านมะม่วงให้เป็นจุดเข้าออกโดยสมบูรณ์ จะเกิดการเดินทางจากทั้ง 3 ช่องทางเข้ามายังจังหวัดตราดและเข้าไปเที่ยวทะเลที่เกาะช้างและเกาะอื่นๆได้สะดวกมากขึ้นนักท่องเที่ยวกัมพูชามหรือเวียดนามรวมทั้งจากต่างประเทศก็เข้ามาตราดได้มากขึ้น

“ตราด”เปิดประตู 4 ด้าน บูมค้าชายแดน-ท่องเที่ยว

 ส่วนการเดินทางทางอากาศ ผ่านสนามบินตราด ซึ่ง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)  ขอขยายสนามบินและต้องตัดภูเขาด้านข้างรันเวย์ เพื่อให้เครื่องบินขนาดใหญ่เข้ามาจอดได้  ทางจังหวัดอนุมัติให้ดำเนินการไปแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับและได้ไลเซนส์จากบริษัทการบินแล้ว เหลืออยู่ที่ไลเซนส์ของแผนการบินว่าจะเดินทางมารูปแบบไหน จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จากเดิมวันละ 70 ที่นั่ง ไปกับ 140 ที่นั่ง/วัน เพิ่มมาใช้เครื่องใหญ่ขึ้นวันละ 160 คน/เที่ยว วันละ 3-4 เที่ยว จะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาตราดเดือนละ 3-4 หมื่นคนเป็นอย่างน้อย 

ขณะที่การเดินทางทางน้ำ ที่เร่งดำเนินการคือ ท่าเรือเอนกประสงค์คลองใหญ่ งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างท่าเรือใหม่ หากดำเนินการได้เร็วจะรองรับการท่องเที่ยวและการค้าทางทะเลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมากขึ้น จะส่งผลดีต่อการผลักดันเส้นทางถนนเส้นมอเตอร์เวย์มาตราด หรือดึงรถไฟความเร็วสูงเพื่อให้จังหวัดตราด ทำให้ตราดเป็นศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยวของ 3 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม จะสร้างรายได้แสนล้าน/ปี

นางวิภา สุเนตร ประธานหอการค้าจังหวัดตราด

นางวิภา สุเนตร ประธานหอการค้าจังหวัดตราด เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯได้เสนอเรื่องไปยังหอการค้าไทย ผลักดันการก่อสร้างถนนสายบูรพาชลทิศ ช่วงต่อจากอำเภอขลุง จ.จันทบุรี มายังจังหวัดตราด เพื่อสร้างเส้นทางท่องเที่ยว

ขณะนี้จังหวัดตราดเร่งหาข้อสรุปในการเชื่อมเส้นทางนี้แล้ว โดยโครงการการพัฒนายกระดับท่าเรือแหลมศอกให้เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว สามารถเดินทางไปยังหมู่เกาะต่างๆในทะเลตราดได้ดี ทั้งเกาะกูด เกาะหมาก หรือเกาะกระดาด รวมทั้งเกาะช้างตอนใต้ แต่ปัญหาคือ สะพานแหลมศอกมีปัญหาเรื่องคลื่นทะเล ต้องทำเขื่อนกันคลื่นและการสร้างเพิ่มเติม

“ตราด”เปิดประตู 4 ด้าน บูมค้าชายแดน-ท่องเที่ยว

นอกจากนั้น จะผลักดันให้ใช้หนังสือเดินทางใบเดียวเดินทางเข้าออกระหว่างไทย-กัมพูชา และ เรื่องยกระดับเครดิตบูโรขอพักชำระหนี้ผู้ประกอบการจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อการเข้าถึงแหล่งทุน ของผู้ประกอบการ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่แหล่งทุนกำหนด