วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงเรือเล็กหาดสุชาดาจับมือภาคีเครือข่าย ให้ความรู้กับประชาชน เรื่องนวัตกรรม จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ(Effective Microorganisms- EM ) พร้อมเปิด“ศูนย์เรียนรู้และเปิดธนาคารจุลินทรีย์ชุมชน “ หวังถ่ายทอดขยายองค์ความรู้สู่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาใช้กับการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม
วันที่ 29 พ.ค. 2566 ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงเรือเล็กหาดสุชาดา ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง นายบุญธรรม ใยกล้า นายกเทศมนตรีตำบลเนินพระ เป็นประธานเปิดศูนย์เรียนรู้และเปิดธนาคารจุลินทรีย์ชุมชน โดยมีนายลำเพย แว่วเสียง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงเรือเล็กหาดสุชาดา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชาวชุมชนฯ ร่วมในพิธี
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงเรือเล็กหาดสุชาดา ก่อตั้งมานานมากว่า 10 กว่าปี มีเป้าหมายคือ การพัฒนาด้านอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน และการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวบ้านชาวประมงและชุมชนท้องถิ่น ให้มีความอยู่ดีมีสุขถึงลูกหลานต่อไป
การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์ เป็นการต่อยอดด้วยนวัตกรรม จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ(Effective Microorganisms- EM )ในการพัฒนาชุมชนเป็นฐานความรู้ที่สำคัญ และจะสามารถเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจชุมชนได้มากยิ่งขึ้น
ศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์ จะเป็นจุดถ่ายทอดความรู้ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (Effective Microorganisms- EM ) ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกด้านในชีวิตประจำวันและการอาชีพ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในระดับครัวเรือนและชุมชนได้ ทั้งเป็นการขยายจุลินทรีย์ที่ดีมีประสิทธิภาพให้กระจายทั่วท้องถิ่น เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและลดมลภาวะต่าง ๆ สร้างสมดุลของระบบนิเวศน์ของชุมชน
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงเรือเล็กหาดสุชาดา ได้นำองค์ความรู้ด้านจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมาใช้ ให้เกิดประโยชน์ ในการบำบัดน้ำเสียและฟื้นฟูป่าชายเลน
นอกจากนี้ชาวประมงยังสามารถลดขยะ มลภาวะจากเศษปลา ไส้ปลา หัวปลา เพราะได้นำกลับมาผ่านกระบวนการผลิต “ฮอร์โมนปลาทะเลหมักด้วย EM “ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยน้ำชีวภาพสารสกัดจากปลาทะเล เมื่อสมาชิกในกลุ่มได้นำไปใช้ ส่วนที่เหลือใช้ก็นำออกจำหน่าย ราคาลิตรละ 150 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาน้ำมัน
นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยม จนสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสมาชิกและชุมชน เพราะ นำไปใช้กับการเกษตรได้ผลดี ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก ผลไม้ เช่น สวนมะม่วง มันสำปะหลัง ทุเรียน ลดต้นทุนปุ๋ยเคมีได้
และยังมีผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เช่น จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย สารไล่แมลง ปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยหมัก น้ำยาเอนกประสงค์ในการทำความสะอาดในครัวเรือน เป็นต้น