อ.ส.ค.ลุย บริหารจัดการโคนมเรียลไทม์ ตลอดห่วงโซ่

30 พ.ค. 2566 | 12:05 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2566 | 12:17 น.

อ.ส.ค. จับมือ ม.มหาสารคาม รุกพัฒนาระบบสารสนเทศด้านกิจการโคนมแบบเรียลไทม์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน มุ่งเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำนมดิบ-เพิ่มรายได้เกษตรกร พร้อมรองรับผู้นำศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านอุตสาหกรรมโคนมของประเทศและอาเซียน

นายสมพร  ศรีเมือง  ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)  เผยว่า อ.ส.ค. ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมนมของประเทศและผู้นำศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านอุตสาหกรรมโคนมของประเทศและระดับอาเซียน ได้ร่วมกับคณะวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และบริษัท ซินเทลลิเจนท์ จำกัด จัดทำโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านกิจการโคนมของ อ.ส.ค. ขึ้น  โดยเริ่มตั้งแต่ระดับต้นน้ำที่เป็นฟาร์มโคนมเกษตรกร ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ สหกรณ์โคนมไปจนถึงระดับโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์นมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน 

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์และรองรับการเชื่อมโยงฐานข้อมูลในการสร้างระบบบิ๊กดาต้าสามารถนำไปใช้กำหนดนโยบายอุตสาหกรรมโคนมของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าแบบยั่งยืนในอนาคต

อ.ส.ค.ลุย บริหารจัดการโคนมเรียลไทม์ ตลอดห่วงโซ่

อ.ส.ค. ได้เริ่มดำเนินโครงการแล้ว ได้แก่ 1.ระบบบันทึกข้อมูลรับซื้อน้ำนมฟาร์มเกษตรกร (Zyan MCC) และระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการน้ำนมของฟาร์มเกษตรกรและสหกรณ์โคนม (Zyan COOP) ใช้สำหรับสหกรณ์โคนมและศูนย์รับน้ำนมดิบ 2.ระบบศูนย์กลางฐานข้อมูลด้านกิจการโคนม (Dairy Data Center : DCC) 

3.ระบบบริหารจัดการน้ำนมดิบ (Zyan MSC) เพื่อรายงานการรับซื้อน้ำนมดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตโรงงานนม และ 4. ระบบบริหารจัดการฟาร์มโคนมเกษตรกร (Zyan Dairy) เป็นระบบช่วยจัดการฟาร์มให้กับเกษตรกรโคนมมีแผนงาน ดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมและศูนย์รับนมในพื้นที่ส่งเสริมทุกภาค 45 สหกรณ์ จำนวนเกษตรกร 3,624 ราย โดยส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ระบบบริหารจัดการฟาร์มโคนมเกษตรกร (Zyan Dairy) แล้ว จำนวน 1,732 ราย

ส่วนระบบบันทึกข้อมูลรับซื้อน้ำนมฟาร์มเกษตรกร และระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการน้ำนมของฟาร์มเกษตรกรและสหกรณ์โคนม สำหรับสหกรณ์โคนมและศูนย์รับน้ำนมดิบ ดำเนินการส่งเสริมการใช้งานแล้วจำนวน 31 สหกรณ์/ศูนย์ ขณะที่การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำนมดิบสู่กระบวนการผลิตนม (MSC) ได้จะเริ่มดำเนินการปีงบประมาณ  2566 นี้

อ.ส.ค.ลุย บริหารจัดการโคนมเรียลไทม์ ตลอดห่วงโซ่

สำหรับระบบบันทึกข้อมูลรับซื้อน้ำนมดิบจากฟาร์มเกษตรกร จะเป็นระบบบันทึกปริมาณน้ำนมดิบของสหกรณ์ที่รับซื้อจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกส่งนม ณ ศูนย์รับน้ำนม ที่เรียกว่า “ศูนย์รับน้ำนมดิบอัจฉริยะ” ระบบดังกล่าวจะมีการบันทึกทั้งปริมาณนมและคุณภาพนมเพื่อนำไปคำนวณค่าน้ำนมให้แก่เกษตรกรพร้อมทั้งมีระบบแจ้งเตือนไปยังเกษตรกรได้ทราบถึงปริมาณนมที่ส่งในแต่ละวัน โดยเกษตรกรสามารถทักท้วง  ตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องได้ภายใน 12 ชั่วโมง ระบบดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการข้อมูลสมาชิกของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วนระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการน้ำนมของฟาร์มเกษตรกรและสหกรณ์โคนม สำหรับใช้งานในสหกรณ์โคนมและศูนย์รับน้ำนมดิบเป็นระบบสารสนเทศของสหกรณ์โคนมเพื่อการจัดการน้ำนมดิบที่รับซื้อจากฟาร์มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกส่งนม เป็นระบบที่เชื่อมโยงกับระบบ Zyan MCC เพื่อช่วยพัฒนาสหกรณ์ พัฒนาสมาชิก  ระบบสุดท้ายคือระบบบริหารจัดการน้ำนมดิบ (Zyan MSC) เป็นระบบบริหารจัดการน้ำนมดิบ เพื่อให้มีการรายงานผลการรับซื้อน้ำนมดิบในกระบวนการผลิตนมทุกสำนักงานภาคให้เป็นเรียลไทม์

อ.ส.ค.ลุย บริหารจัดการโคนมเรียลไทม์ ตลอดห่วงโซ่

“การพัฒนาระบบสารสนเทศด้านกิจการโคนมของ อ.ส.ค. ในครั้งนี้  จะเป็นการพัฒนาข้อมูลแบบเรียลไทม์ เชื่อมต่อทุกระดับตั้งแต่เกษตรกรผู้ใช้งาน เชื่อมต่อไปยังเจ้าหน้าที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ผู้บริหารสหกรณ์ ทั้งนี้ เพื่อการบริหารสหกรณ์ ส่งเสริมเกษตรกรให้จัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยที่เกษตรกรได้รับข้อมูลแบบเรียลไทม์  สามารถนำข้อมูลไปพัฒนาฟาร์มเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและเพิ่มรายได้ให้มีความมั่นคงยั่งยืนในอนาคตต่อไป” 

นายสมพร  กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศมีจำนวนมากกว่า 17,100 ครัวเรือน มีโคนมประมาณ 660,155 ตัว มีปริมาณการผลิตน้ำนมดิบปีละประมาณ 1.2 ล้านตัน หรือโดยเฉลี่ย  3,380 ตันต่อวัน โดยเกษตรกรที่เป็นสมาชิก อ.ส.ค. มีทั้งหมด 4,831 ราย และเกษตรกรที่ลงนามบันทึกข้อตกลงการบริหารจัดการน้ำนมโค (MOU) มีจำนวนว่า 3,689 ราย มีกำลังการผลิตกว่า 800 ตันต่อวัน

อ.ส.ค.ลุย บริหารจัดการโคนมเรียลไทม์ ตลอดห่วงโซ่

อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำนมดิบโดยรวมของประเทศไทยปัจจุบันเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 1 % เท่านั้น ขณะที่มีนำเข้านมผงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมนมพร้อมดื่มในไทยและอาเซียนซึ่งขยายตัวปีละกว่า 10 % ดังนั้นการส่งเสริมการผลิตน้ำนมดิบให้มีศักยภาพสูงขึ้นจึงเป็นประเด็นที่จำเป็นและเร่งด่วนควบคู่กับการเร่งพัฒนาการบริหารจัดการน้ำนมดิบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  โดยการบันทึกข้อมูลด้วยเทคโนโลยีแอพพลิเคชันที่ทันสมัยแบบเรียลไทม์ในฟาร์มจะทำให้ตัวเกษตรกรเห็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับฟาร์มได้โดยตรงสร้างประสิทธิภาพในการจัดการฟาร์มให้ดีขึ้น