นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้บรรจุวาระการแก้ไขปัญหาประมงตามข้อ 18 ของ วาระร่วมในบันทึกความตกลงร่วม (MOU)ในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยนั้น ล่าสุดได้รับการประสานงานจากทีมงานพรรคก้าวไกล ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาหารือกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และสมาชิกสมาคมประมงจาก 22 จังหวัด รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับพี่น้องชาวประมงและประมงต่อเนื่อง ในวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00 น.เป็นต้นไป ณ ห้องประชุมใหญ่ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร
“ในวันดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้พี่น้องชาวประมงแต่ละจังหวัดได้สะท้อนปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายจากหน่วยงานใด ข้อไหน มาตราใด ชื่อกฎหมายลำดับรอง (กฎกระทรวง/ประกาศ/ข้อบังคับ) ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำประมง เพื่อให้ว่าที่รัฐบาลใหม่ผลักดันในการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ประมง ให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ รวมถึงกรรมการในคณะทำงานเกี่ยวกับการปฏิรูปประมง มีความคืบหน้าอย่างไร วางกรรมการเป็นใครบ้างในแต่ละพรรคที่ส่งเข้ามานั่งเป็นคณะในทำงาน"
นายมงคล กล่าวว่า ในนามตัวแทนพี่น้องชาวประมงทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล ซึ่งถือเป็นเกษตรกรสาขาอาชีพหนึ่งของประเทศนี้รู้สึกดีใจที่ทุกพรรคการเมืองได้มองเห็นถึงความสำคัญภาคการประมง ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว จะสามารถเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง ในการช่วยฟื้นฟู ช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมงและผู้ประกอบการประมงที่มีปัญหาสะสมมานานกว่า 8 ปีได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยอยู่บนพื้นฐานหลักสากลตามวิถีการประมงของไทย เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และมีความมั่นคงทางด้านอาหาร
ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ที่ชาวประมงไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของกฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วมจากชาวประมง มีการออกอย่างเร่งรีบทำให้ชาวประมงปรับตัวไม่ทัน มีการกำหนดกฎ ระเบียบปฏิบัติใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย สร้างปัญหาทั้งวิธีปฏิบัติและโทษปรับที่รุนแรงกับชาวประมงที่กระทำความผิดโดยไม่เจตนา เรื่องนี้ได้สร้างความเสียหายให้แก่อาชีพประมงและอาชีพต่อเนื่องประมงทั้งระบบ เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่าแสนล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 27 เรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันทางด้านกฎหมายในหลาย ๆ มาตราใน พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558-2560 เช่น การกำหนดบทลงโทษตามมาตรา 124 และมาตรา 153 ที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับแรงงานไม่ว่าจะมีการกระทำความผิดโดยเจตนาหรือไม่เจตนา จะมีการลงโทษปรับ 400,000-800,000 บาทต่อแรงงาน 1 คน ขณะที่แรงงานผิดกฎหมายบนฝั่งทุกอาชีพมีโทษปรับแค่ 10,000-100,000 บาท รวมทั้งมีการลงโทษเกินกว่าเหตุ
เช่น สั่งปิดโรงงานแปรรูปประมงและการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมง แต่อาชีพบนฝั่งไม่มีการสั่งปิดโรงงาน ไม่มีการยึดใบอนุญาต นอกจากนี้ยังมีการออกประกาศการจดทะเบียนเรือประมงใหม่ให้แต่เรือประมงพื้นบ้าน แต่เรือประมงพาณิชย์จดทะเบียนไม่ได้ ซึ่งเป็นการใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน ข้อเสนอคือ ขอให้มีการใช้กฎหมายโดยให้มีความเสมอภาค อีกทั้งเรื่องแรงงานขอให้ใช้กฎหมายแรงงานของกระทรวงแรงงาน ส่วนเรื่องโรงงานอุตสาหกรรม ขอให้ใช้กฎหมายโรงงานอุตสาหกรรม กฎหมายกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า ต้องให้มีการปฏิบัติให้มีการเสมอภาค
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบโทษปรับของชาวประมงไทย สูงสุดถึง 30 ล้านบาทถือว่าสูงที่สุดในโลก เห็นแล้วจะตกใจว่าทำไมถึงทำกับชาวประมงไทยได้ถึงเพียงนี้