นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการตรวจสอบปัจจัยการผลิตและตรวจรับรองของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นอาคารที่ให้บริการ ตรวจ วิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการสินค้าเกษตรปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ที่ได้มาตรฐานสากล รองรับความต้องการของเกษตรกรผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งสอดรับกับข้อสั่งการของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญด้านคุณภาพสินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ และปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ต้องมีคุณภาพสูง
โดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำโครงการ “Thai Premium Fruit” เพื่อขยายการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งใน และ ต่างประเทศ รวมถึงกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่าง ดำเนินการจัดทำโครงการห้องปฏิบัติการแห่งอนาคต “Doa Future Lab” เป็นการยกระดับเทคโนโลยี นวัตกรรม ห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ลดปัญหา และ อุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศอาคารปฏิบัติการตรวจสอบปัจจัยการผลิตและตรวจรับรอง ให้บริการวิเคราะห์ใน 7 ห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วย
1) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ปุ๋ยและน้ำ ให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ย และน้ำที่ใช้ในทางการเกษตร
2) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดินและพืช ให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของดิน
3)ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง ให้บริการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในพืช ดิน และน้ำ
4) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์วัตถุอันตรายทางการเกษตร ให้บริการวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี
5) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์จุลชีววิทยาและสารปนเปื้อน
6) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์โลหะหนัก หาปริมาณโลหะหนักใน ดิน น้ำ พืช และปุ๋ยอินทรีย์
7) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารสำคัญในพืชสมุนไพรซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการส่วนภูมิภาคแห่งเดียวที่สามารถวิเคราะห์สารสำคัญในพืชสมุนไพร สามารถวิเคราะห์สารสำคัญในขมิ้นชัน บัวบก ไพล กระชายดำ กระชายขาวและฟ้าทะลายโจร
โดยมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 จำนวน 2 ห้องปฏิบัติการ คือ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ปุ๋ย และห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารพิษตกค้างมีแผนในการเตรียมยื่นขอการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์วัตถุอันตรายทางการเกษตรในปี 2567
กรมวิชาการเกษตรมีพันธกิจในการพัฒนางานวิจัยด้านพืชและวิชาการเกษตร กำกับดูแลระบบการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต พัฒนาระบบตรวจรับรองสินค้าเกษตรด้านพืชให้ได้มาตรฐาน ดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติ 6 ฉบับ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตรรวมทั้งการยกระดับวิชาการเกษตรไทย ต่อยอดสู่การพัฒนาศักยภาพภาคการเกษตรในทุกด้าน
ทั้งนี้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1-8 มีบทบาทหน้าที่ขับเคลื่อนภารกิจของกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้แทนของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ตระหนักถึงความสำคัญด้านการเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชของเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่การมีห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถยกระดับงานบริการตรวจรับรองและตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร สามารถเพิ่มศักยภาพการกำกับดูแลปัจจัยการผลิตให้เป็นไปตามกฎหมายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ
กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 มุ่งมั่นและเดินหน้าในการยกระดับห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐานครอบคลุมในทุกๆ ด้านเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคต่อสินค้าเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สนับสนุนในด้านการผลิตพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศอย่างครบวงจร ส่งเสริมให้เกษตรกรรักษามาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพและปลอดภัยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ช่วยเพิ่มโอกาสในแข่งขันในตลาดโลก สร้างความมั่นคงทางการเกษตร