น.ส.ลักษมี เดชานุรักษ์นุกูล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า นาโนเทคโนโลยีเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสารที่ทำให้อนุภาค หรือโมเลกุลของสารมีขนาดเล็กมากและเพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้ประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้นเมื่อนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทย
สำหรับสารป้องกันกำจัดแมลง “นีมโร ดีโอเอ” เป็นสารสกัดจากพืชสะเดากับหางไหลมาผสมรวมสูตรเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นได้นำนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เป็นการพัฒนาคุณภาพ ความคงตัว เพิ่มการดูดซับ เพื่อนำมาใช้ในการควบคุมศัตรูพืช โดยเฉพาะแมลงศัตรูพืชที่เป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากสารออกฤทธิ์จากพืชสลายตัวได้ง่าย ไม่ทำให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างในสารสำคัญ
สะเดา มีสารสำคัญคือ อะซาไดแรคติน มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการกิน การลอกคราบ การวางไข่ของแมลง การเจริญเติบโตของไข่ หนอน และดักแด้ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการไล่แมลง ส่วนหางไหล หรือ โล่ติ๊น มีสารสำคัญ คือ โรติโนน มีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง และสารนี้มีพิษต่อแมลงโดยการสัมผัสตายและกินตาย
สารสกัดนีมโร ดีโอเอ เป็นสารสกัดจากพืชที่ไม่ทำให้หนอนตายทันทีเหมือนสารเคมี ส่วนตัวที่ไม่ตายก็จะไม่สามารถลอกคราบ หรือเข้าดักแด้ได้ หรือเป็นผีเสื้อเพื่อวางไข่ไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้ ช่วยลดจำนวนประชากรหนอนใยผักได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกันสารป้องกันกำจัดแมลงนีมโร ดีโอเอ ยังมีประโยชน์ต่อเกษตรกรคือ 1.เป็นปัจจัยทางเลือกให้เกษตรกรมีสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพ 2.เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย ใช้ทดแทนสารเคมีได้ และ 3.เป็นการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้พืชท้องถิ่นไทย ลดการสูญเสียจากการทำลายของหนอนบนใบพืช และยังมีข้อดีคือสารตัวนี้สลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อนหรือแสงแดด จึงทำให้ไม่ตกค้างอยู่บนพืชผัก
สำหรับคำแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดพืช “นีมโร ดีโอเอ” ให้มีประสิทธิภาพสูง จากผลการทดสอบในแปลงทดสอบภาคสนามให้ใช้ที่อัตรา 35-50 มิลลิลิตรต่อนํ้า 20 ลิตร โดยพ่นทุก 5 วัน ติดต่อกัน 4-7 ครั้งต่อรอบการเพาะปลูก ถือเป็นสารสกัดที่ใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ และช่วยส่งเสริมภาคการเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน ผู้สนใจติดต่อได้ที่กลุ่มงานวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร 02-9405-442