จากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา “ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยผ่านงานวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 51 ปี โดยถอดโมเดลนโยบายรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนการบริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4 ปีนับจากนี้ โดยใช้หลัก KPI (Key Performance Indicator) เป็นดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน ไว้อย่างน่าสนใจ
ใช้หลักทำงานเชิงบูรณาการ
ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า หลังเข้ารับตำแหน่งได้รับเสียงสะท้อนจากผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯหลายคนว่าต้องร่วมคณะลงพื้นที่ ต้องทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ ต้องลำบากกัน เพราะต้องไปตามรัฐมนตรี แต่รู้หรือไม่ว่าตั้งแต่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) “ครม.เศรษฐา 1” ถึง ณ วันนี้ นายกรัฐมนตรีก็ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เช่นกัน เมื่อผู้นำประเทศไม่มีวันหยุด แล้วรัฐมนตรีจะมีวันหยุดได้อย่างไร ทั้งนี้ KPI ถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นตนในฐานะรัฐมนตรีต้องลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกร เพื่อนำมาแก้ไข
“ผมได้คุยกับปลัด รองปลัด ตลอดจนผู้บริหารทุกกรม ว่าจะต้องมีการแบ่งงานกันเพื่อรับผิดชอบ และบูรณาการการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ว่าปลัด รองปลัด อธิบดีทุกกรมต้องตามไปลงพื้นที่ในเมื่อเรามีผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ มีรองปลัด มีผู้อำนวยการ (ผอ.) แต่ละภาค มีเกษตรจังหวัด มีเจ้าหน้าที่อยู่ทุกจังหวัด ก็ให้ใช้คนในพื้นที่นั้น ๆ จะไปตามผมทั้งหมดไม่ได้ ส่วนหนึ่งต้องไว้บริหารแผนในภาพรวม”
จัดงบปี 67 สอดคล้องนโยบายรัฐ
สำหรับงบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2567 นายกรัฐมนตรีพูดชัดเจนถึงเรื่องการใช้งบประมาณปี 2567 อันไหนไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลให้ทุกกระทรวงเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งมี 5 ประการที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นยํ้า 1.การใช้งบประมาณสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา 2.การทำงบประมาณต้องทำแบบบูรณาการ หมายความว่า ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีทั้งหมดกี่กรม มีรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนกี่องค์กร การทำงบประมาณต้องให้มีการจัดทำนโยบายที่ไม่ซํ้าซ้อน
3.ให้รักษาวินัยการเงินการคลัง เป็นเรื่องสำคัญ ต่อไปนโยบายของตน “กรมตรวจบัญชีสหกรณ์” ต้องสอนให้เกษตรกรแต่ละครัวเรือนรู้จักการทำบัญชี สอนให้สถาบันเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจ และอื่นๆ ต้องมีการทำบัญชี และต้องมีวินัยการเงินการคลัง เรื่องที่ 4. เป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมาใช้ ในยุคที่ตนเป็นเจ้ากระทรวงเกษตรฯ จำเป็นต้องใช้ KPI เป็นตัวชี้วัด ว่าผู้บริหารทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแต่ละคนทำงานไปสู่เป้าหมายตามที่วางไว้หรือไม่ หากไม่ได้ผลตาม KPI ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายตามที่ได้ตกลงกันไว้
“ในยุคผมไม่มีการกลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเด็ดขาดสิ่งสำคัญที่สุดผมมาเป็นเจ้ากระทรวง เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่รักษาปกป้องให้ทุกคนทำงานอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ นิสัยผมตั้งแต่รับราชการมาเป็นคนรักลูกน้อง รักพรรครักพวก ถ้าลูกน้องผมทำงานถูกต้องใครจะมารังแกไม่ได้อย่างเด็ดขาด”
ใช้ KPI ประเมินผลงาน
สำหรับกรมวิชาการเกษตร และ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ถือว่าเป็นมันสมองของกระทรวงเกษตรฯ ในยุคของตนทั้งสองหน่วยงานจะต้องช่วยกันทำงานหนัก แต่ต้องมีความสุข ไม่ใช่ทำงานแล้วใครเอามีดมาเสียบหลัง ยืนยันว่าไม่มีในยุคของตน ขอให้สบายใจได้
“มีการปล่อยข่าวลือว่าจะย้ายอธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมการข้าว เลขาฯ สศก. ผมไม่คิดจะทำใคร คนเราต้องให้โอกาสกัน ยังไม่ได้ทำงานร่วมกันเลยจะไปล้างบาง ไม่ใช่ในยุคของผม แต่หากทำงานร่วมกันแล้ว ตัวชี้วัดไม่ได้เรื่องก็ต้องมานั่งคุยกัน เช่นเดียวกับกับระดับรองอธิบดี ผู้อำนวยการ ขอให้สบายใจได้ หากถูกอธิบดีรังแก ให้มาหาผมได้โดยตรง ทั้งนี้เป้าหมายรวมของความสำเร็จคือ เกษตรกรต้องอยู่ดีกินดี ลดภาระหนี้ เพิ่มรายได้เป็น 3 เท่าใน 4 ปี ตามนโยบายรัฐบาล หากไม่มีงบประมาณมาบอกผม จะไปหามาให้”
สั่งเช็คสต็อกยางทั่วประเทศ
ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวอีกว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ว่าการยางของมาเลเซีย ต่อโทรศัพท์สายตรงมาหา แจ้งว่าต้องการสร้างความเข้มแข็งในแถบอาเซียน ไม่ใช่ปล่อยให้สิงคโปร์กำหนดราคาอยู่ได้ประเทศเดียวที่ผ่านมาไม่เคยคุยกับรัฐมนตรีเกษตรฯของไทยเลย นับเป็นครั้งแรก และตอบรับจะมาเยือนไทยในเร็วๆนี้ ซึ่งผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)ต้องช่วยกันทำงานหนัก
“ผมต้องการให้เช็คสต็อกยางให้เร็วที่สุด อย่าเอาตัวเลขหลอกมาหลอกผม กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการเช็คสต็อกยาง ซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ล่าสุดผมให้ไปอายัดปุ๋ยไว้ เป็นปุ๋ยไม่มีมาตรฐาน ไม่ทราบว่าใช้งบประมาณอะไรไปซื้อปุ๋ยให้กับเกษตรกร รู้สึกแย่มาก ผมได้สั่งให้อายัดทั้งหมดแล้ว ถ้าผลการตรวจสอบไม่ได้เรื่อง ผมจะดำเนินคดี แต่จะให้โอกาสไปแก้ไข ถ้าไม่แก้ไขเจอผมแน่ นี่เป็นความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นที่คนซื้อปุ๋ยสมมุติราคา 20 บาท คุณไปให้เกษตรกรซื้อ 100 บาท โหดเกินไป ใช้ไม่ได้” ร้อยเอกธรรมนัส กล่าว
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,929 วันที่ 8-11 ตุลาคม พ.ศ. 2566