วันที่ 12 ตุลาคม 2566 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ครั้งที่ 5/2566 เห็นชอบหลักการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็น “โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยมีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข กว่า 1.62 ล้านราย เนื้อที่รวมกว่า 22 ล้านไร่นั้น ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ
จัดระเบียบ 22 ล้านไร่เตรียมแจก
ร้อยเอกธรรมนัส ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ จะมีการประชุม คปก. เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้กฎหมาย ระเบียบและมติคณะกรรมการ 4 ฉบับ ได้แก่ 1.พระราชบัญญัติการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 มาตรา 30 2. ระเบียบ คปก.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ที่ได้รับที่ดิน พ.ศ. 2564
3.ระเบียบ คปก.ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ. 2535 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 และ 4.ระเบียบ คปก.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการให้กู้ยืมเงินกองทุนการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2544 เพื่อยกระดับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เป็น “โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม”
ทั้งนี้เกษตรกรไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องลงทะเบียน หากมีคุณสมบัติการถือครอง และทำประโยชน์ในที่ดินมาไม่น้อยกว่า 5 ปีก็เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับประโยชน์ ซึ่งมีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข จำนวน 1,628,520 ราย มีเอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 5.23 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) 10.71 ล้านไร่, ภาคกลาง 3.56 ล้านไร่ และภาคใต้ 2.56 ล้านไร่
“ได้สั่งการให้ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) แต่ละจังหวัด ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่าง ๆ โดยจะส่งนายช่างรังวัดไปตรวจสอบ จะมีกรอบระเบียบจำหน่ายจ่ายโอนในวิธีไหนบ้างเพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินตกไปอยู่กับกลุ่มทุน หรือนอมินี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ได้เน้นย้ำลงไป เพื่อให้การทำงานในทุกจังหวัดมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังนั้นหากมีกลุ่มทุน หรือนอมินีครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.อยู่จะยึดคืนทันที เพราะเป็นการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ และขัดกับเจตนารมย์ของกฎหมาย”
ให้รายละไม่เกิน 50 ไร่
ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า การเปลี่ยนส.ป.ก. 4-01 เป็น “โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” จะให้ถือครองได้ไม่เกินรายละ 50 ไร่เท่านั้น โดยจะมีการประเมินราคาที่ดินใหม่ในแต่ละจังหวัด ร่วมกับกรมธนารักษ์ โดยฝ่ายกฎหมายกำลังขับเคลื่อนอยู่ ระหว่างนี้จะให้ ส.ป.ก.แต่ละจังหวัดติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ทั้งในประเด็นแปลงเป้าหมายที่ต้องตรวจสอบ, การตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นเกษตรกรในการทำประโยชน์ในที่ดินเป็นรายบุคคล, พิจารณา ไทม์ไลน์ ระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินการ เน้นป้องกันไม่ให้ที่ดินตกไปอยู่กับกลุ่มทุน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยจะทำงานคู่ขนานกับด้านกฎหมายไปพร้อมกัน
ตามกรอบเวลาการส่งมอบโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกให้เกษตรกรได้ในวันที่ 15 ม.ค.2567 โดยสิทธินายทะเบียนยังอยู่ที่ ส.ป.ก. ธนาคารที่ให้กู้เงิน สามารถยึดที่ดินได้แบบโฉนดปกติ โดยจะมีหลักเกณฑ์ในการทำข้อตกลงร่วมกับธนาคารที่จะให้เกษตรกรถือครองที่ดินเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งในการกำหนดเงื่อนไข จะมี 3 ฝ่าย ได้แก่ เกษตรกร, ส.ป.ก. และสถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้จะได้มีการเจรจากันในลำดับต่อไป
เก็บค่าเช่าแทนรื้อถอน
ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวอีกว่า หากในที่ดิน ส.ป.ก.มีการสร้างเป็นโรงแรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย ตลาด หรือปั๊มน้ำมัน หรืออื่น ๆ แล้วก่อนหน้านี้ หากจะไปไล่รื้อ หรือทุบทิ้ง ทำให้เกิดการทะเลาะกัน ไม่เกิดประโยชน์ ในเรื่องนี้ได้ให้นโยบายในการเปลี่ยนเป็นการเก็บค่าเช่าที่ดินเพื่อนำเข้ากองทุน ส.ป.ก. ปัจจุบันกองทุนส.ป.ก. มีวงเงินสะสมอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท หากเก็บเต็มเม็ดเต็มหน่วยเชื่อว่าจะได้ตรงนี้ไม่ต่ำกว่า 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปีเพื่อเข้ากองทุน โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐบาลมาอุดหนุนเกษตรกร เพราะที่ส.ป.ก.4-01 มีจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยจะใช้ข้อกฎหมายการใช้พื้นที่ชุมชนทำเรื่องนี้ให้ถูกต้อง
ที่ผ่านมา ส.ป.ก.มีหน้าที่จัดที่ดิน แต่ไม่เคยเช็คเลยว่าเกษตรกรที่ได้ไปนำไปทำเกษตรกรรรมหรือไม่ อย่างไร ทำอาชีพอะไรบ้าง ก็จะถือโอกาสตรวจสอบที่ดินไปในตัว พร้อมตั้งข้อสังเกต “โครงการตรวจสอบและดำเนินการกรณีเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินถึงแก่ความตายในเขตปฏิรูปที่ดินปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” วงเงิน 22.5 ล้านบาท เพื่อให้ ส.ป.ก. นำไปใช้จ่ายเพื่อเร่งรัดและติดตามให้ทายาทเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ถึงแก่ความตายมาแจ้งขอรับสิทธิการจัดที่ดินแทนที่ (รับมรดก) ซึ่งยังไม่มาแสดงตนอีก 171,434 ราย จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567
อย่างไรก็ดีคาดพื้นที่ตรงนี้ได้ถูกขาย หรือโอน เปลี่ยนมือไปหมดแล้ว หากตรวจสอบพบไปอยู่ในมือกลุ่มทุนที่ไม่ใช่เกษตรกรจะดำเนินการยึดคืนทันที เพราะขัดเจตนารมย์ฯ คือการจัดสรรที่ดินต้องใช้เพื่อทำเกษตรกรรม และการเปลี่ยนมือสามารถดำเนินการได้ระหว่างเกษตรกรกับเกษตรกรเท่านั้น
ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,933 วันที่ 22-25 ตุลาคม พ.ศ. 2566