แม้ว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จะหดตัว แต่ถ้าเจาะลึกลงไปราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถือเป็นโอกาสในการส่งออก และตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในตลาดโลกที่ยังคงสูงขึ้น โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม – กันยายน 2566)
พบว่ามีมูลค่าการส่งออกรวม 2,907.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 15.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเกิดจากการปรับตัวลดลงของปริมาณการส่งออก ทั้งนี้ ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.69 ถึงแม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลง แต่ราคาที่เกษตรกรขายได้และราคาส่งออกยังคงปรับตัวสูงขึ้น
9 เดือนแรกของปี ส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
ตลาดส่งออกหลักสำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย
จีน มีสัดส่วนร้อยละ 65.5 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทยไปโลก ขณะที่ไทยก็เป็นหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับหนึ่งของจีน โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 69.70 ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของจีน
ส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญอื่น ๆ ของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 8.44) ไต้หวัน (สัดส่วนร้อยละ 3.53) มาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 3.27) สหรัฐอเมริกา (สัดส่วนร้อยละ 2.66) และประเทศอื่น ๆ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย เป็นต้น (สัดส่วนรวมร้อยละ 17.05)
ส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยส่วนแบ่งตลาดของไทยในโลก
จากแดชบอร์ดวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics Dashboard) "มันสำปะหลัง" ของเว็บไซต์ คิดค้า.com มีการประเมินช่องว่างโอกาสการขยายมูลค่าการส่งออกของไทย (Potential GAP Analysis) ไปยังตลาดใหม่ ๆ โดยพิจารณาจากประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสูง แต่ไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยส่วนแบ่งตลาดของไทยในโลก ประเทศที่ไทยยังมีช่องว่างในการขยายมูลค่าการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ คือ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา โดยมีส่วนต่างเป้าหมายการส่งออกอยู่ที่ 94.06 และ 45.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
คาดการณ์ว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาด
เมื่อพิจารณาด้านการผลิตในปี 2567 ผลผลิตมันสำปะหลังเริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 และจะมีผลผลิตต่อเนื่องไปจนถึงกันยายน 2567 ซึ่งคาดว่าจะมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 9.05 ล้านไร่ ลดลงร้อยละ 3.22 (YoY) (ปี 2566 มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 9.35 ล้านไร่) จะมีผลผลิตรวม 27.94 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 9.08 (ปี 2566 มีผลผลิตรวม 30.73 ล้านตัน) และจะมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 3,088 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 6.05 (ปี 2566 มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 3,287 กิโลกรัม/ไร่) และคาดการณ์ว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 25671
"ราคาซื้อขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในประเทศและราคาส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ และเอทานอล เเละยังเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์ในทางโภชนาการและสุขภาพ ทำให้แนวโน้มความต้องการมันสำปะหลังในตลาดโลกยังคงขยายตัว" นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าว
แนะรัฐเร่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่ทนโรค-ใช้นวัตกรรม
นายพูนพงษ์ สะท้อนข้อมูลในปีที่ผ่านมาพบว่า ผลผลิตมันสำปะหลังของไทยลดลง สวนทางกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งภายในและต่างประเทศ เนื่องจากมันสำปะหลังของไทยยังคงเผชิญกับโรคใบด่างและศัตรูพืช รวมทั้ง การขาดแคลนท่อนพันธุ์ที่ทนต่อโรคพืชและแมลง ประกอบกับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งในปีนี้ และอุทกภัยในช่วงปี 2565 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตในประเทศลดลง
ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่ทนโรคและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอยู่แล้วแต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่ดีมานด์โลกยังพุ่งสูงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ต้องเร่งส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังที่หลากหลายด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเพิ่มโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแปรรูปในตลาดศักยภาพใหม่ ๆ ให้มากขึ้นด้วย
ผู้ประกอบการไทย เตรียมพร้อมรับมือ
สถานการณ์ต่าง ๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและความต้องการในตลาดโลกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโรคศัตรูพืช ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน ภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย อัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงมีความผันผวน รวมทั้ง สถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งและโลจิสติกส์ สำหรับปัจจัยบวก ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงานจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ น่าจะเกื้อหนุนให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง