“ซินเจนทาฯ” ผนึกรัฐ-เอกชน ปักธงเชียงใหม่ ดันเครือข่ายอาหารปลอดภัย

25 พ.ย. 2566 | 10:23 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2566 | 10:36 น.

ซินเจนทาฯ ร่วมภาครัฐ-เอกชนลงนาม MOU ลุยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ภายใต้โครงการ “เครือข่ายเกษตรกรเพื่ออาหารปลอดภัย” ปักธงเชียงใหม่เป็นแห่งแรก ดึง 300 ครัวเรือนเข้าร่วม

รายงานข่าวเผยว่า บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด, มูลนิธิรักษ์ไทย, บริษัท คิว บ็อคซ์ พอยท์ จำกัด(ฟาร์มบุ๊ค), เทศบาลตำบลแม่แจ่ม และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ศึก ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ภายใต้โครงการ “เครือข่ายเกษตรกรเพื่ออาหารปลอดภัย” ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นความมุ่งมั่นร่วมกัน ในการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศไทย สร้างความมั่นคงทางอาชีพ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

“ซินเจนทาฯ” ผนึกรัฐ-เอกชน ปักธงเชียงใหม่ ดันเครือข่ายอาหารปลอดภัย

นางพาเมลา กอนซาเลซ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัทซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ริเริ่มโครงการนี้ และขอบคุณผู้ที่มีส่วนร่วมทุกท่านทั้ง ภาครัฐ และเอกชน ที่ช่วยให้โครงการนี้เกิดขึ้น เชื่อว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของพืช และส่งเสริมให้เกษตรกรไทยสามารถผลิตอาหารปลอดภัยได้อย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (Good Agricultural Practice: GAP) ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากลในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

“ซินเจนทาฯ” ผนึกรัฐ-เอกชน ปักธงเชียงใหม่ ดันเครือข่ายอาหารปลอดภัย

โครงการนี้ไม่เพียงช่วยแค่พื้นที่เกษตรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดูแลที่ดินให้ดีขึ้น ปกป้องสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร และช่วยสร้างความมั่นใจในด้านคุณภาพ และความปลอดภัยของผลผลิตด้วย

นางสาวกล้วยไม้ นุชนิยม กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด กล่าวว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นการรวมศักยภาพของแต่ละหน่วยงานมาช่วยในพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรให้ยั่งยืน ในฐานะผู้นำด้านโซลูชันทางการเกษตรยุคใหม่ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาของเกษตรกรในการทำเกษตรกรรมที่ขาดการวางแผนที่ดี

ทั้งนี้บริษัทพร้อมให้ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรกับพี่น้องเกษตรกร ในการใช้ผลิตภัณฑ์สารอาหารพืช การเก็บเกี่ยว การใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง ส่งเสริมให้เกษตรกรให้ทำการเกษตรอย่างปลอดภัย ยั่งยืน และให้ได้ผลผลิตสูงสุด ตลอดจนช่วยหาตลาดรับซื้อผลผลิตที่ได้มาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

“ซินเจนทาฯ” ผนึกรัฐ-เอกชน ปักธงเชียงใหม่ ดันเครือข่ายอาหารปลอดภัย

ด้าน นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า การร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นความมุ่งมั่นร่วมกัน ในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความเชื่อมโยงกับการตลาด ซึ่งในฐานะที่ทางมูลนิธิดำเนินการพัฒนาชุมชนในเขตภาคเหนือมากว่า 38 ปี มีความคุ้นเคยในเขตพื้นที่ และมีความสัมพันธ์อันดีกับเกษตรกร และชุมชน

พบว่าเกษตรกรยังขาดทางเลือกในการเพาะปลูก ขาดความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีรายได้ต่ำ รวมถึงมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงตลาด ซึ่งมูลนิธิฯพร้อมที่จะเป็นผู้ประสานงานกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือให้เข้าร่วมโครงการฯนี้ ให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชผักอย่างปลอดภัยได้มาตรฐาน และขายผลผลิตให้กับโครงการฯ โดยมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน

ขณะที่ นายธิติพันธ์ บุญมี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิว บ็อคซ์ พอยท์ จำกัด หรือ แอปพลิเคชั่น ฟาร์มบุ๊ค กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่มีส่วนช่วยในการยกระดับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยให้มีศักยภาพในการทำธุรกิจทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยฟาร์มบุ๊คเป็นแพลตฟอร์มทางธุรกิจเกษตรที่จะช่วยเชื่อมโยงผลผลิตจากเกษตรกรไปสู่ผู้ประกอบการหรือตลาดที่ต้องการผลผลิต รวมถึงเป็นแกนนำหลักเรื่องการขนส่งจากฟาร์มไปยังโรงคัดบรรจุ ส่งต่อไปยังห้างร้านและผู้บริโภคต่อไป

นอกจากนี้ยังสนับสนุนและให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและธุรกิจที่จำเป็น ให้เกษตรกรสามารถจัดการการผลิตและทำธุรกิจเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการฯนี้จะเริ่มจากกลุ่มเกษตรกร และสมาชิกในครัวเรือนทางภาคเหนือตอนบน จำนวน 300 ครัวเรือน 1,200 คน รวมพื้นที่โดยประมาณ 480 ไร่ เริ่มนำร่องที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก ทั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินงานโครงการฯ 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566  ถึง เดือนกันยายน 2569