การยาสูบฯ ชี้โครงสร้างภาษีใหม่ทำกำไรลดฮวบ ลุยปรับโมเดลธุรกิจ

21 ธ.ค. 2566 | 08:35 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2566 | 08:38 น.

การยาสูบฯ ชี้โครงสร้างภาษีใหม่ ทำกำไรลดฮวบ จากปี 60 อยู่ที่ 9,343 ล้านบาท ล่าสุดเหลือ 213 ล้านบาท ระบุบุหรี่ถูกกฎหมายแพง คนแห่สูบยาเส้น-บุหรี่ไฟฟ้า-บุหรี่เถื่อน ลุยปรับโมเดลธุรกิจพึ่งส่งออกสร้างรายได้

นายภูมิจิตต์  พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ธุรกิจยาสูบในประเทศนับตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างภาษี เมื่อปี 60 - 66 พบว่า ได้ทำให้การยาสูบมียอดขายลดลงจาก 2.8 หมื่นล้านมวนในปี 60 เหลือ 1.4 หมื่นล้านมวนในปี 66 ขณะที่กำไรต่อซองลดจาก 6.49 บาทต่อซอง เหลือ 0.18-0.30 สตางค์ และมีผลกำไรลดจาก 9,343 ล้านบาทต่อปี เหลือล่าสุด 219 ล้านบาท

ทั้งนี้ สาเหตุมาจากการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ทำให้ราคาบุหรี่ในประเทศที่ถูกกฎหมายแพงขึ้น ส่งผลให้มีบุหรี่เถื่อนลักลอบเข้ามาแย่งตลาด เพราะราคาถูกกว่าขายเพียงซอง 20-30 บาท ต่ำกว่าบุหรี่ทั่วไปที่ซอง 65-70 บาท อีกทั้งคนรุ่นใหม่ยังหันไปซื้อบุหรี่ไฟฟ้า วัดได้จากบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตขึ้น 6.4% ต่อปี

นายภูมิจิตต์  พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)

ขณะเดียวกัน กลุ่มคนมีรายได้น้อยหันไปสูบยาเส้นทดแทน เห็นได้จากยอดขายยาเส้นมวนเองเติบโตกว่า 1 เท่าตัว จาก 1.2 หมื่นล้านมวน เป็น 2.8 หมื่นล้านมวน แซงหน้ายอดขายบุหรี่ที่ขายที่ 2.68 หมื่นล้านมวนไปแล้ว หลังจากวงการยาเส้นมีการพัฒนาเครื่องมวนยาเส้นและใส่ก้นกรองได้เอง ทำให้โดยรวมราคาถูกกว่าบุหรี่ 3 เท่าตัว เนื่องจากรัฐบาลมีการตั้งภาษียาเส้นต่ำกว่าบุหรี่หลายเท่าตัว 

“ปัญหาบุหรี่เถื่อน บุหรี่ผิดกฎหมาย เป็นปัญหาระดับประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีปริมาณการสูบบุหรี่เถื่อนมากกว่า 70% ของการสูบบุหรี่ทั้งหมดในจังหวัดภาคใต้” 

ส่วนแนวทางที่การยาสูบได้เตรียมดำเนินการต่อไป คือ เราได้เตรียมเสนอรัฐบาล และกรมสรรพสามิต พิจารณาการปรับโครงสร้างยาสูบครั้งใหญ่ โดยว่าจ้างนักวิชาการ ศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ให้เป็นธรรม จากปัจจุบันที่มีการเก็บภาษีด้านปริมาณ และมูลค่าอีก 25-42%  โดยจะได้ข้อสรุปใน 2 เดือนนี้

นอกจากนั้น จะมีการเสนอพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ยาสูบ เช่น รับจ้างผลิตบุหรี่เพื่อจำหน่ายในประเทศได้ หลังจากโรงงานยาสูบในปัจจุบัน มีกำลังการผลิตเหลือส่วนเกินเหลือจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน การยาสูบฯ ได้ปรับโครงสร้างโมเดลธุรกิจ โดยหันพึ่งพารายได้จากการส่งออกบุหรี่มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเมียนมา และกัมพูชา ที่บุหรี่ไทยได้รับความนิยมสูงอยู่ รวมถึงปรับแผนตลาดใหม่ เช่น การออกบุหรี่ยี่ห้อใหม่ การลดราคาบุหรี่รุ่นเดิมเพื่อช่วงชิงตลาดกลับคืน หลังจากที่ผ่านมาการยาสูบฯ สูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากเคยสูง 79% เหลือเพียง 52%

นอกจากนี้ จะเพิ่มรายได้จากการบริหารทรัพย์สิน เช่น การเปิดเช่าระยะยาวที่ดินที่มีกว่า 4,000 ไร่ รวมถึงการแยกให้โรงพิมพ์ และโรงพยาบาล บริหารจัดการหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ 

ส่วนแนวทางการรับซื้อใบยาสูบจากชาวไร่  ยสท. ยังมีความยินดีที่จะรับซื้อช่วยเหลือชาวไร่อย่างต่อเนื่อง โดยมีโควตาการรับซื้อใบยาเวอร์ยิเนีย 4.73 ล้านกิโลกรัม ใบยาเบอร์เลย์  7.1 ล้านกิโลกรัม และใบยาเตอร์กิซ 2 ล้านกิโลกรัม ขณะเดียวกัน ยังได้เสนอกรมสรรพสามิตในการขอเงินชดเชยจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นช่วยชาวไร่ 89 ล้านบาท