นับถอยหลัง วันที่ 15 มกราคม 2567 ประเทศไทย จะมีปรากฏการณ์สำคัญเกี่ยวกับพี่น้องเกษตรกรที่ทำกินในพื้นที่ ส.ป.ก. จำนวน 1.62 ล้านราย เอกสารสิทธิรวม 2.20 ล้านฉบับ เนื้อที่รวม 22.07 ล้านไร่ ที่ทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี มีพื้นที่ถือครองไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาต (แต่ละครอบครัวไม่เกิน 50 ไร่ หรือ ปศุสัตว์ไม่เกิน 100 ไร่ ) จะถูกยกระดับให้เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งทางคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา (กมธ.) ได้เชิญผู้บริหารของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้าไปชี้แจงในประเด็นที่เป็นข้อกังวล โดยขอให้ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการออกโฉนดที่ดินตามนโยบายของรัฐบาลในครั้งนี้ต้องไม่ขัดกับเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518
นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และในฐานะรองเลขานุการและโฆษกคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส่วนตัวมองเป็นความฉลาดในเชิงรัฐศาสตร์ และเชิงจิตวิทยาในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องเกษตรกรที่จะได้มีโฉนดที่ดินเป็นของตัวเอง ส่วนในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้น ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้ ที่ดินส.ป.ก. 4-01 สามารถนำไปขึ้นทะเบียนเกษตรอินทรีย์ลำบาก และติดขัดไปหมด แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรแล้วสามารถขึ้นทะเบียนได้เลย มองเป็นข้อดีและเป็นผลประโยชน์ต่อเกษตรกร นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“จากที่ ส.ป.ก.มาชี้แจงก็มองว่าไม่ขัดกับกฎหมาย แต่ก็เหมือนว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แบบมีนัยสำคัญ เพราะคำว่าเกษตรกร คำจำกัดความกว้างเหลือเกิน ใครก็สามารถเป็นเกษตรกรได้ ซึ่งข้อห่วงใยของเราคือเกรงจะกลายเป็นช่องโหว่ ทำให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลมาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบได้”
ด้าน ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “ส.ป.ก. 4-01” เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร จะเริ่มแจกในวันที่ 15 มกราคมนี้ โดยอ้างอิงระเบียบตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปี 2518 บวกฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยที่ดินดังกล่าวสามารถเปลี่ยนมือได้ จากเดิมสามารถเปลี่ยนมือได้โดยสืบทอดมรดก ผ่านทายาท และลูกหลาน แต่จากนี้สามารถเปลี่ยนมือได้โดยเจ้าของเดิมต้องไปแจ้งการสละสิทธิ์ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินแต่ละจังหวัดให้กับเจ้าของใหม่
ทั้งนี้ที่ดินไม่ใช่เพียงแค่ทำไร่ไถนาได้เท่านั้น แต่ยังมีประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมการ (คปก.) เรื่อง รายการกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด ตามมาตรา 30 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 พ.ศ. 2563 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เช่น ร้านขายรถแทร็กเตอร์ , เปิดสถานีบริการนํ้ามัน ทำที่พักอาศัย เป็นต้น โดยเปิดกรอบกว้างเพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดิน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจัดที่ดินชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพราะคำว่า “ปฏิรูป” คือ เปลี่ยนให้ดีขึ้น และเกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับมอบจากกรมป่าไม้ และอุทยาน จะมีการประกาศทั้งหมดถึงสิ่งที่ได้รับมา อาจจะเป็นที่พัก ร้านค้า ถามว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในที่ดินปฏิรูปได้หรือไม่ ความจริงไม่ได้ ดังนั้นต้องจำแนกประกาศเป็นเขตชุมชน
“กลุ่มเหล่านี้อยู่อย่างผิดกฎหมาย เรากำลังเอาของใต้โต๊ะมาวางไว้บนโต๊ะ แล้วทำให้รัฐบาลมีรายได้ คือการให้เช่าแบบถูกต้อง พื้นที่ใดประกาศเป็นพื้นที่ชุมชน ใครอาศัยอยู่ในเขตที่ดินต้องเช่า แทนการรื้อถอน ส่วนจะเช่าในราคาใด จะอ้างอิงกับกรมที่ดิน เช่น ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ก็มีทั้งหาดทราย และโรงแรม (กราฟิกประกอบ) สถานที่ท่องเที่ยวไม่เหมาะกับการเกษตร เป็นต้น
ทั้งนี้จะประกาศเป็นพื้นที่ชุมชนเพื่อให้ผู้ประกอบการมาทำสัญญาเช่าให้ถูกต้อง รายได้จะเข้ากองทุน ส.ป.ก. เพื่อพัฒนากลับไปสู่พี่น้องเกษตรกร เพื่อทำกินในเขตปฎิรูปที่ดิน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาต่อยอด พัฒนาคุณภาพที่ดีขึ้น นี่คือสาระสำคัญ”
ขณะที่ นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย และในฐานะกรรมการ คปก. ตั้งข้อสังเกตว่า ในส่วนของการจัดที่ดินของจังหวัดภูเก็ตมองว่าอันตรายมาก หากปล่อยผ่าน เนื่องจากผลการตรวจสอบในพื้นที่ มีโรงแรม 71 แห่ง คอนโดมิเนียม 5 แห่ง อพาร์ทเม้นท์ 7 แห่ง ทาวน์โฮม 1 แห่ง บ้านพัก/บ้านเช่า/บังกะโลตากอากาศ 13 แห่ง ดังนั้นการจะไปแปลงจากการรื้อถอน เป็นการเก็บค่าเช่าจะผิดกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ตามกฎหมายระบุ อนุญาตให้ทำกิจการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่น ที่อยู่อาศัย ที่พัก หอพัก เป็นต้น ซึ่งในข้อนี้ไม่มีคำว่าโรงแรม จะมาอนุญาตให้อย่างไร เพราะคำว่า “โรงแรม” จะตีความหมายเป็นที่พักได้หรือไม่ ก็เกรงว่าจะตีความผิด ดังนั้นควรยึดที่คืนแล้วนำไปแจกให้เกษตรกรที่ต้องการที่ดินทำกิน
อนึ่ง (คลิกอ่าน) ประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมการ (คปก.) เรื่อง รายการกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม