กรมวิชาการเกษตรขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตรสู่ความสำเร็จและเห็นผลเป็นประจักษ์ภายใน 100 วันตามนโยบายของรัฐบาล และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเน้นการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย เพื่อที่จะนำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง สามารถยกระดับรายได้ภาคการเกษตรของเกษตรกรให้สูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม 3 เท่า ภายใน 4 ปีซึ่งแปลงต้นแบบการผลิตสินค้ามูลค่าสูงของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแปลง “ผลิตทุเรียนนอกฤดูกาล และเสริมรายได้ด้วยกล้วยหอมทอง” ของคุณเอกรินทร์ ลาภมี ที่มีมูลค่าการผลิตกว่า 4.7 แสนบาท/ไร่/ปี
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวหลังจากเป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่ง ในการคัดสรรเกษตรกรที่มีองค์ความรู้ ให้เป็นเกษตรกรต้นแบบดีเด่นในระดับจังหวัด และระดับเขต เพื่อที่จะประชาสัมพันธ์ถ่ายทอด ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตพืชมูลค่าสูง ให้แก่เกษตรกร บุคลากรภาครัฐภาคเอกชน และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ให้มีการเสริมสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกันซึ่งการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี 76 จังหวัด 76 โมเดล
การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูงช่องทางสู่เศรษฐีสุราษฎร์ธานีโมเดล “การผลิตทุเรียนนอกฤดูเสริมรายได้ด้วยกล้วยหอมทอง”ครั้งนี้ จะเป็นการขยายผลโครงการดีๆ ในการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้สูง ให้กับทุกภาคส่วน ได้เรียนรู้ และร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านการปลูกพืชแบบผสมผสาน ร่วมกัน
สำหรับกิจกรรมหลักของงานประกอบด้วย แปลงสาธิต นิทรรศการ แปลงต้นแบบระดับเขตและระดับจังหวัด จำนวน 8 ต้นแบบ การเสวนาช่องทางสู่เศรษฐี ผลิตพืชอย่างไรให้ได้รายได้สุทธิสูงอย่างยั่งยืน ของเกษตรกรแปลงต้นแบบ และฐานเรียนรู้ 5 ฐานเรียนรู้ ประกอบด้วย การขุดล้อมต้นทุเรียน การขยายพันธุ์กล้วยหอมทอง การใช้ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี การเก็บตัวอย่างดิน/น้ำ/พืช เพื่อวิเคราะห์สารพิษตกค้างและธาตุอาหาร การตรวจคุณภาพทุเรียนอ่อน-แก่ ตลอดจนการให้บริการ DOA mobile unit และแจกพันธุ์พืช ปัจจัยการผลิต แก่ผู้เข้าร่วมงาน ได้แก่ เกษตรกร ประชาชน ข้าราชการ พนักงาน บุคลากรภาครัฐและนักเรียน นักศึกษา จำนวน 350 ราย
“การจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรต้นแบบและเครือข่าย หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานในจังหวัดสุราษฎร์ธานีการผลิตทุเรียนนอกฤดูเสริมรายได้ด้วยกล้วยหอมทอง”เป็นโมเดลต้นแบบระดับเขตของภาคใต้ตอนบน 8 จังหวัด ในการเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิตทุเรียนนอกฤดู สร้างรายได้ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน รวมทั้งโมเดลระดับจังหวัด อีก 7 โมเดล ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ผู้สนใจ ได้นำไปดำเนินการให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ สร้างรายได้สูงคุ้มค่ากับการลงทุน และขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรผู้ได้รับรางวัลทุกท่าน ที่ได้สร้างสรรค์ต้นแบบการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง เชิงประจักษ์ และร่วมขยายผลเทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตรให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง นำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ตอนบน กรมวิชาการเกษตร ยังเน้นย้ำขยายผลโครงการนำร่องสร้างฐานความมั่นคงการผลิตมะพร้าวไทยด้วยการรับรองมาตรฐานนวัตกรรมการปลูก/การเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการตรวจรับรองแหล่งผลิตมะพร้าว ตามมาตรการป้องกันการใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิตมะพร้าวเพื่อการส่งออก(GAP Monkey Free Plus)
โดยพื้นที่ภาคใต้ตอนบนให้การรับรองไปแล้วกว่า 800 ราย และรับรองทั่วประเทศ1,600 ราย และยังมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการอีกจำนวนมาก รวมถึงให้ขยายผลเชื่อมโยงไปถึงในส่วนของโรงงานแปรรูปมะพร้าวเพื่อให้สามารถเชื่อมโยกระบวนการผลิตตั้งแต่ในสวนถึงโรงงาน ตามระบบตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ผลิตได้ ผลิตจากมะพร้าวจากสวนไหน และไม่มีใช้แรงงานลิงในการเก็บเกี่ยว