“นฤมล“เผย“รัฐบาลเศรษฐา”ดึงเงินลงทุนสู่อุตสาหกรรมดิจิตอล

28 ก.พ. 2567 | 04:21 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2567 | 04:27 น.

“นฤมล“ผู้แทนการค้าไทยเผย “รัฐบาลเศรษฐา”ดึงเงินลงทุนสู่อุตสาหกรรมดิจิตอล รองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 5 (5IR)

วันนี้ (29 ก.พ. 67) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ถึงวัตถุประสงค์ของการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิตอล เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิตอลในภูมิภาค ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศวิสัยทัศน์เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อเตรียมรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การปฎิวัติอุตสากรรมครั้งที่ 5 หรือ the 5th Industrial Revolution (5IR) 

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า การปฎิวัติอุตสากรรมครั้งที่ 4 หรือ 4IR ค่อย ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณปี 2010 เกิดเป็น Digital Economy ที่ครอบคลุมเทคโนโลยีใหม่ในขณะนั้น เช่น ioT, AI , Robotics , Blockchain, Biotechnology, Quantum Computing รัฐบาลไทยในสมัยนั้นจึงใช้ยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อรองรับเศรฐกิจดิจิตอล และเปลี่ยนกระทรวง ICT เป็น กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

รวมถึงขยายขอบเขตภารกิจความรับผิดชอบให้กว้างขึ้นตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปที่มากไปกว่าแค่เรื่องของ Information and Communications Technologies (ICT) 

จากนั้นมา ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่องจนประเทศไทยอยู่ในแนวหน้าของภูมิภาคด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล ในขณะเดียวกัน ได้มีการสนับสนุนการลงทุนในเรื่อง Big Data ทั้งของภาครัฐและเอกชน และส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านดิจิตอลทั้งที่ระดับหลักสูตรของสถาบันการศึกษาและการอบรมทั้ง reskill and upskill สำหรับแรงงานไทย

ผู้แทนการค้าไทย ระบุว่า ปี 2023 ข้อมูลจาก World Bank แสดงสัดส่วนอุตสาหกรรมดิจิตอลนับเป็น 15% ของ GDP โลก และคาดการณ์ว่าจะเติบโตเป็น 30% ของ GDP โลกภายในปี 2030 จากความกังวลที่คิดว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้คนตกงาน 

                     ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย

การคาดการณ์กลับพบว่า เมื่อเข้าสู่ the 5IR ที่ Digital Economy จะกลายเป็น  Re-humanized หรือ Personalized Economy ที่เทคโนโลยี 4IR จะกลับมาสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้มนุษย์ในหลากหลายมิติ 

เช่น การสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากการออกแบบเฉพาะรายบุคคลให้กับลูกค้า การรักษาพยาบาลที่ออกแบบเฉพาะรายบุคคลเพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งการศึกษาที่ออกแบบเฉพาะรายบุคคลเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

ทั้งหมดนี้ จะเกิดการลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่จำนวนมาก ที่คาดว่าจะนำไปสู่การจ้างงานใหม่ถึง 30 ล้านตำแหน่ง 

“เพื่อให้ประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทย และแรงงานไทยได้รับประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรม 5IR นี้ รัฐบาลจึงพยายามดึงดูดเงินลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ และ บริษัทสตาร์ทอัพในห่วงโซ่อุปทานของ 5IR ให้มากขึ้น เพื่อสร้าง ecosystem สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 5”  

ทั้งนี้ ในฐานะผู้แทนการค้าจึงได้หารือและชักชวนบริษัทด้าน Data center และ Data Analytics เข้ามาลงทุนในไทยให้มากขึ้น เรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะข้อมูลกับการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญสำหรับ Personalized Economy ที่จะเกิดขึ้นต่อไป