คลี่ปม "ราคายางพารา" ปัจจัยอะไรกันแน่ที่กระทบต่อราคา

06 เม.ย. 2567 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2567 | 08:02 น.

ย้อนปมร้อน ศึกอภิปรายทั่วไปรัฐบาล ประเด็น "ราคายางพารา" ซึ่งเป็นวิวาทะระหว่าง นายชวน หลีกภัย กับ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน และอะไรกันแน่คือ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคายาง

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระ"อภิปรายทั่วไปรัฐบาลแบบไม่ลงมติ" ตามมาตรา 152 สัปดาห์ที่ผ่านมา กับประเด็น "ราคายางพารา" ร้อนเป็นไฟ กับมวยรุ่นใหญ่ระหว่าง นายชวน หลีกภัย กับ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน 

นายกฯเศรษฐา ลุกขึ้นชี้แจงช่วงหนึ่ง ถึงปัญหาราคายางตกต่ำว่ารายละเอียด "ดีมานด์ซัพพลาย" ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ได้ชี้แจงชัดเจนแล้ว พร้อมแสดงความยินดีกับชาวสวนยางพาราที่ราคายางดีที่สุดในรอบ 10 ปี และแสดงความเห็นใจกับฝ่ายค้านที่ต้องลำบากหาเหตุผลว่าทำไมราคาอย่างดีเป็นผลงานของรัฐบาล โดยชี้ว่าราคาอย่างดีเพราะรัฐบาลได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง 

คลี่ปม \"ราคายางพารา\" ปัจจัยอะไรกันแน่ที่กระทบต่อราคา

นายกฯ กล่าวอีกว่า วิธีการบริหารเรื่องยางพาราทั้งสองฝ่ายเห็นต่างกัน  แต่รัฐบาลเอาผลงานเป็นหลักที่ราคายางดีขึ้นมาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และรัฐบาลพยายามบริหารงานแบบโปรแอคทีฟเข้าใจถึงปัญหา และลงรายละเอียดเป็นส่วนที่ทำให้ราคายางโลกขึ้นได้อย่างแน่นอน ซึ่งประเทศไทยคอนโทรลดีมานซัพพลายร้อยละ 30 จากทั่วโลก และไทยคือมหาอำนาจของยางพาราโลก เช่นเดียวกับซาอุดิอาระเบียที่เป็นมหาอำนาจทางด้านน้ำมัน 

นายกฯ ระบุว่า ไทยจะต้องมั่นใจว่าเป็นผู้ใหญ่ในเรื่องของยางพาราผู้นำจะต้องมีความกล้าผลักดันเรื่องนโยบายต่างๆเพื่อให้ราคายางสูงขึ้นโดยทำงานเพื่อประชาชน อยู่ดีกินดี ส่วนการปรับยางเถื่อนก็เป็นการบูรณาการร่วมกันของทุกฝ่ายส่งผลให้ปัญหายางเถื่อนลดลงและลดซัพพลายลงไป หรือเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ 101 มั่นใจรัฐบาลทำได้แต่ราคาของผู้อภิปรายในสายตาประชาชนรัฐบาลไม่สามารถรับผิดชอบได้"

"รมว.เกษตรคนที่แล้วเป็นคนใต้เป็นคนที่มีกินมีใช้มาจากยาง แต่ก็ไม่ได้ดูแลอะไรที่เกินกว่าที่ตัวเองควรจะทำ ปัจจุบันนี้มีใจและทำงานอย่างแท้จริงเพื่อพี่น้องประชาชนและเราจะพยายามต่อไปที่จะรักษาราคายางให้สูง” นายเศรษฐากล่าว 

คลี่ปม \"ราคายางพารา\" ปัจจัยอะไรกันแน่ที่กระทบต่อราคา

ชวนกรีดเศรษฐา หลงทาง ปราบ "ยางเถื่อน" 

ด้านนายชวน หลีกภัย อภิปรายประเด็นราคายางพาราว่า ในฐานะเด็กสวนยาง เกิดในสวนยาง ตอนเด็ก ๆ เป็นนักเรียนก็ต้องเก็บยาง ที่ตรังเรียกว่า เทยาง ตักยาง โตมาแบบนั้น จึงสนใจเรื่องยางเป็นพิเศษ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องร้ายเสมอไป เช่น เรื่องราคายางพารา”นายชวนกล่าว

วันนี้มีคนปลูกยางแล้ว 69 จังหวัด 1.7 แสนครัวเรือน เฉพาะผู้ที่มีโฉนด ผู้ไม่มีโฉนดอีกเป็นล้านไร่ วันนี้ยางราคาขึ้นเป็นน่าดีใจ น่าภูมิใจ ขอขอบคุณทุกฝ่าย ผลพวงจากราคายางเปลี่ยนไป เมื่ออุปสงค์ความต้องการ ผลผลิตน้อย ความต้องการสูง แย่งกันซื้อ ราคาสูง แต่เมื่อผลผลิตมาก ราคาก็ทรุดลงไป

“แต่ท่านนายกฯ ได้พูดเรื่องนี้ ทำให้ผมมาทบทวน ถ้าเป็นอย่างที่นายกฯพูด อาจะเป็นปัญหา สิ่งนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่ อยากให้ราคาเป็นอย่างนี้ตลอดไป ราคายางขึ้นอยู่ที่อะไร อยู่ที่อุปสงค์อุปทาน หรือ การตรวจจับยางเถื่อน ท่านนายกฯบอกว่า เป็นผลพวงจากการปราบบางเถื่อน ทำให้ราคาขึ้น”นายชวนกล่าว  

นายชวนกล่าวว่า เป็นเรื่องดี ถ้าประชาชนเชื่อว่า การปราบยางเถื่อนทำให้ราคาขึ้น ไม่เชื่อว่าอุปสงค์อุปทานเป็นตัวกำหนด แต่ในโลกความเป็นจริง เมื่อราคาเปลี่ยนแปลงไป ผลผลิตยางเพิ่มขึ้น แต่อย่าไปประมาทว่าราคาดีตลอด วันข้างหน้า ยางเคยขึ้นถึง 120 บาท สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มันขึ้นไม่ใช่เพราะเรา แต่ขึ้นทุกประเทศ เช่น มาเลเซีย รวมถึงอินโดนีเซีย 

“ไม่อยากให้เราหลงทาง วันหน้าราคายางตก รัฐบาลก็จะถูกตำหนิจากชาวบ้าน ที่บอกว่าปราบยางเถื่อนแล้ว ราคายางจะดีตลอดไป ช่วงที่ยางราคาดีไม่มีใครไม่รู้ คนจึงหันมาปลูกยาง เป็นตัวที่ทำให้อุปสงค์อุปทานเปลี่ยนแปลงไป จึงอยากให้ชาวสวนยางมั่นใจ แต่อย่าประมาท ระวัง จับจ่ายใช้สอยให้ดี รัฐบาลต้องบอกความจริงด้วย”นายชวนกล่าว 

นายชวนกล่าวว่า ขอถามนายกรัฐมนตรี ว่า ราคายางจะดีอย่างนี้ไปตลอดหรือใช่หรือไม่ โดยไม่เกี่ยวข้องกับอุปสงค์อุปทานในอนาคต และรัฐบาลแนวป้องกันหรือไม่ว่า ราคายางต้องได้เท่าไหร่ให้เกษตรกรชาวสวนยางอยู่ได้

คลี่ปม \"ราคายางพารา\" ปัจจัยอะไรกันแน่ที่กระทบต่อราคา

ธรรมนัส แจง รัฐบาลเร่งปราบรามยางพาราเถื่อน

ซึ่งในการอภิปรายในช่วงก่อนหน้านั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า รัฐบาลชุดนี้ได้พยายามที่จะรักษาเสถียรภาพราคายางพาราให้สมดุลทั้งปริมาณการซื้อและการขาย และจากการเจรจากับสหภาพยุโรป รวมถึงองค์กรต่างๆ ขอให้ไทย อย่าใช้นโยบายที่เตือนกลไกการตลาดเลยเด็ดขาด รวมทั้งให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดโลกที่ต้องการยางพาราที่ได้รับมาตรฐานตามกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป ภายใต้กฎระเบียบว่าด้วยการส่งสินค้าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือเป็นการทำเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยขอให้ไทยเป็นประเทศนำร่อง ในเรื่องนี้ ควบคู่กับการรณรงค์ให้มีการใช้ยางพาราในประเทศให้มากที่สุด จนในปัจจุบันราคายางพาราปรับตัวดีขึ้น จนชาวสวนยางพอใจ 

 

อะไรกันแน่คือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคายาง

ข้อมูลจาก www.liberator.co.th โดย นารี อภิเศวตกานต์  นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้้นฐาน ระบุว่า ยางพาราพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ซึ่งภาคใต้ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็น 61% ของการผลิต, ภาคตะวันออกเฉียง เหนือ 27%, ภาคตะวันออก 7% และภาคเหนือ 5% โดยยางธรรมชาติที่ผลิตได้จะนำไปผลิต
เป็นยางแท่ง (56% ของปริมาณส่งออก), ยาง แผ่น (12% ของปริมาณส่งออก), น้ำยางข้น (27% ของปริมาณส่งออก) และอื่น ๆ

และส่ง ออกไปให้ลูกค้าผู้ผลิตยางล้อที่มีฐานการผลิต ทั่วโลก หรือนำไปผลิตเป็นสินค้าขั้นปลายเช่นยางล้อ (70%ของมูลค่าการส่งออก), ถุงมือยาง(12% ของมูลค่าส่งออก), ท่อยาง, ยางยืด, ถุงยางอนามัย และอื่น ๆ และจะส่งออกให้ลูกค้า
อีกที

 

ไทยฐานการผลิตยางพาราอันดับ 1 ของโลก

โดยพิจารณาจาก GDP โลกและประเทศคู่ค้าของไทยด้วยว่าเป็นอย่างไรซึ่งหากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยจะหดตัวอาจส่งผลกระทบต่อการค้าของไทยด้วยเพราะไทยเป็นประเทศส่งออกหลักทั้งสินค้าเกษตร, สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม,ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งจะส่งผลต่อการนำ
เข้า-ส่งออกด้วย

และต้องพิจารณาเศรษฐกิจไทยด้วยว่า จะเป็นเช่นใดซึ่งส่วนใหญ่จะล้อตาม
เศรษฐกิจโลก แต่จะต้องพิจารณาถึงนโยบายจากภาครัฐว่าจะเอื้อต่ออุตสาหกรรมใด, การเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี เป็นต้น

"ต้องพิจารณาถึง นโยบายจากภาครัฐว่าจะเอื้อต่ออุตสาหกรรมใด"

 

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคายาง
 

  1. อุปสงค์การใช้ยางธรรมชาติซึ่งหลัก ๆ จะนำไปผลิตเป็นยางล้อซึ่งหากผู้ใช้รายใหญ่อย่างจีนอุปสงค์อ่อนแอจะส่งผลกระทบต่อราคายาง
  2. อุปทานยางหดตัวจากภาวะภัยแล้งเช่นเกิดเอลนีโญทำให้ผลผลิตยางจะลดลงส่งผลให้ราคายางปรับขึ้น
  3. ผลผลิตของคู่แข่งหลักอย่างอินโดนีเซียที่ลดลงจากปัญหาโรคใบร่วงทำให้เกษตรกรไทยจะได้ประโยชน์
  4. เศรษฐกิจโลกส่งผลต่อกำลังซื้อ โดยเฉพาะจากผู้ใช้รายใหญ่อย่างจีน
  5. ฤดูปิดกรีด ผลผลิตจะลดลงและส่งผลให้ราคายางปรับขึ้น อย่างเช่นไทยจะปิดกรีดช่วง ก.พ.-เม.ย.ในภาคอีสาน ส่วนใต้บิดกรีด มี.ค.-พ.ค. ขณะที่อินโดจะปิดช่วง ก.ย.-ธ.ค.
  6. อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อให้ลดลง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยางหลัก ๆ จะนำไปผลิตเป็นยางล้อเพื่ออุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งจะมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง
  7. สต็อกยางของผู้ใช้รายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือยุโรปหากมีอยู่ในระดับสูงจะกระทบต่อกำลังซื้อ
  8. สินค้าทดแทน คือ ยางสังเคราะห์ แม้จะไม่สามารถทดแทนยางธรรมชาติได้ทั้งหมดแต่สามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพการผลิตได้สม่ำเสมอกว่า ทำให้การใช้ยางสังเคราะห์มีสัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้น (ยางธรรมชาติ 47 : ยางสังเคราะห์ 53)

"หากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยจะหดตัวอาจส่งผล กระทบต่อการค้าของไทยด้วย"

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >> liberator.co.th