ผ่า “แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ” วงเงิน 4.4 แสนล้านบาท

05 มิ.ย. 2567 | 21:59 น.

เปิดมติครม.ล่าสุด มีมติรับทราบ “แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568”  61,503 รายการ วงเงินรวม 440,431.20 ล้านบาท

มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 มีมติรับทราบ "แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568"  และใช้พิจารณาในการจัดทำงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามความนัย มาตรา 17 (2) แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.25611 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ โดยสาระสำคัญ ระบุว่า 

1. กนช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 [รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ในขณะนั้น เป็นประธาน] เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมมีมติ ดังนี้

  • เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ภายใต้ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 - 2580) [(ร่าง) แผนแม่บทฯ] จำนวน 57,393 รายการ วงเงิน 392,510.9 ล้านบาท
  • ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มาตรา 17 (2) ต่อไป
  • ให้ สนทช. นำแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เสนอต่อคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อไป
  • เห็นชอบให้ สทนช. เปิดระบบ Thai Water Plan เพื่อทบทวน/ปรับปรุงแผนและเสนอคณะกรรมการลุ่มน้ำพิจารณาให้ความเห็นโดยเร็วก่อนเสนอประธาน กนช. พิจารณาเห็นชอบ โดยไม่ต้องเสนอ กนช. อีกครั้ง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันต่อปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

2.สทนช. ได้ดำเนินการรวบรวมและตรวจสอบแผนปฏิบัติการฯ ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเพิ่มเติม ส่งผลให้จำนวนรายการและกรอบวงเงินตามแผนดังกล่าวเพิ่มขึ้น โดยรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ในขณะนั้น ในฐานะประธาน กนช. รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ในฐานะประธาน กนช. ในปัจจุบันได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำฯ ปี 2568 ที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว รายละเอียดสรุปได้ดังนี้

 2.1 ผลสัมฤทธิ์ของแผนปฏิบัติการฯ : เพิ่มความจุกักเก็บน้ำ 1,544.86 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 7.5 ล้านไร่ และมีประชาชนได้รับประโยชน์ 5,623,955 ครัวเรือน รวมถึงมีพื้นที่ได้รับการป้องกัน 5.97 ล้านไร่ และมีเขื่อนป้องกันตลิ่งความยาว 552,817 เมตร

2.2 รายละเอียดของแผนปฏิบัติการฯ : ประกอบด้วยโครงการ/กิจกรรมด้านน้ำของหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทยที่จะดำเนินการในปี 2568 ซึ่งโครงการ/กิจกรรมดังกล่าวเหล่านั้นรวมถึงโครงการตามแผนงานเดิมที่ดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และแผนงานใหม่ที่จะเริ่มต้นดำเนินงานในปี 2568 ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฯ ถูกจำแนกเป็น 2 กลุ่ม ตามลำดับความสำคัญ ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1 คือ โครงการ/กิจกรรมที่สนับสนุนการดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายของ (ร่าง) แผนแม่บทฯ จำนวน 38,651 รายการ รวมวงเงิน 222,355.48 ล้านบาท ซึ่งโครงการ/กิจกรรมในกลุ่มนี้เป็นโครงการที่มีความสำคัญ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการและขอสับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เป็นลำดับต้น
  • กลุ่มที่ 2 คือ โครงการ/กิจกรรมที่เกินกว่ากรอบเป้าหมายของ (ร่าง) แผนแม่บทฯ (หมายถึงโครงการที่มีความสำคัญในระดับรองลงมา) จำนวน 22,852 รายการ รวมวงเงิน 218,075.72 ล้านบาท ซึ่งโครงการ/กิจกรรมในกลุ่มนี้เป็นแผนงานสำรอง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอสนับสนุนงบประมาณตามความเหมาะสมต่อไป

 
สำหรับ (ร่าง) แผนแม่บทฯ มีทั้งหมด 5 ด้าน

  • รวมทั้งสิ้น  61,503 รายการ วงเงิน 440,431.20 ล้านบาท มีดังนี้ 

 

ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 9,785 รายการ วงเงิน 36,862.70 ล้านบาท 

  • ตัวอย่างโครงการ/กิจกรรม เช่น (1) การก่อสร้าง/ปรับปรุงระบบประปา (2) การจัดหาน้ำสะอาดให้ครัวเรือนที่ไม่มีน้ำประปา (3) การก่อสร้างสระเก็บน้ำ/น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค (4) การก่อสร้าง/ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ
  • ตัวอย่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น (1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) (2) กระทรวงมหาดไทย (มท.) (การประปาส่วนภูมิภาคและการประปานครหลวง) (3) สทนช.

ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 33,477 รายการ วงเงิน 242,452.95 ล้านบาท

  • ตัวอย่างโครงการ/กิจกรรม เช่น (1) การปรับปรุงซ่อมแซมแก้มลิง/อ่างเก็บน้ำ/ฝายและสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง (2) การขุดลอกแหล่งน้ำ/สระเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม (3) ก่อสร้าง/ซ่อมแซมธนาคารน้ำใต้ดิน (4) โครงการฝนหลวง
  • ตัวอย่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น (1) อปท. (2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) (กรมชลประทานและสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม)

ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 7,597 รายการ วงเงิน 131,838.90 ล้านบาท

  • ตัวอย่างโครงการ/กิจกรรม เช่น (1) การปรับปรุงระบบระบายน้ำ/ระบบป้องกันน้ำท่วม (2) การกำจัดวัชพืช (3) การก่อสร้าง/ปรับปรุง/ขุดลอกอ่างเก็บน้ำ ฝาย แก้มลิง และสถานีสูบน้ำ
  • ตัวอย่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น (1) อปท. (2) กรุงเทพมหานคร (2) กษ. (กรมชลประทาน) (3) กระทรวงคมนาคม (คค.) (กรมทางหลวง) (4) มท. (กรมป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย)

ด้านที่ 4 การอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ ทรัพยากรน้ำ 9,388 รายการ วงเงิน 15,868.48 ล้านบาท

  • ตัวอย่างโครงการ/กิจกรรม เช่น (1) การฟื้นฟูป่าไม้ (2) การปรับปรุงคุณภาพน้ำ (3) การขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ (4) การก่อสร้าง/ปรับปรุงระบบป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง
  • ตัวอย่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น (1) อปท. (2) กรุงเทพมหานคร (3) กษ. (กรมชลประทานและกรมประมง) (4) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) (กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)

ด้านที่ 5 การบริหารจัดการ 1,256 รายการ วงเงิน 13,408.16 ล้านบาท

  • ตัวอย่างโครงการ/กิจกรรม เช่น (1) การจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับด้านทรัพยากรน้ำ (2) การเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับประเทศและระดับลุ่มน้ำ (3) พัฒนาระบบตรวจวัดและฐานข้อมูลทรัพยากรน้ำ (4) การจัดทำผังน้ำ/ผังการระบายน้ำ
  • ตัวอย่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อปท. กรุงเทพมหานคร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กษ. ทส. มท. สทนช.

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฯ เป็นการรวบรวมโครงการด้านน้ำของหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศที่จะดำเนินการในแต่ละปีมารวมไว้ด้วยกันเพื่อเชื่อมโยงกับเป้าหมายด้านน้ำของประเทศตามที่ระบุในแผนแม่บทฯ โดยจะประกอบด้วย

  1. โครงการ/กิจกรรมที่มาจากแผนงานเดิมในปีก่อน ๆ  และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
  2.  โครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2568 ซึ่งในปี 2568 ประกอบด้วยแผนงานเดิม จำนวน 1,399 รายการ รวมวงเงิน 69,362.45 ล้านบาท และเป็นแผนงานใหม่ในปี 2568 จำนวน 60,104 รายการ รวมวงเงิน 371,068.74 ล้านบาท

 

ผ่า “แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ” วงเงิน 4.4 แสนล้านบาท

 

งบประมาณและแหล่งงบประมาณที่ใช้ในดำเนินโครงการ/กิจกรรมด้านน้ำของประเทศไทย

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568: โครงการ/กิจกรรมด้านน้ำของประเทศไทย ในปีงบประมาณ 2568 ใช้งบประมาณทั่วประเทศจำนวน 440,431.2 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568