รัฐบาล "เศรษฐา" ปักธงแก้วิกฤตน้ำ 3 ปี 7 แสนล้าน

14 ส.ค. 2567 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2567 | 04:08 น.

ชำแหละ 5.3 หมื่นโปรเจ็กต์น้ำ 3 ปีรัฐบาลเศรษฐา มูลค่าเกือบ 7 แสนล้าน เล็งเป้า “นํ้าถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติ” ทุ่มพัฒนาน้ำอีอีซีที่เดียว 5 หมื่นล้าน เลขาฯ สทนช.จ่อชง ครม. ไฟเขียว “เศรษฐา” จี้ทุกหน่วยงานเร่งดันเป็นรูปธรรม กรมชลฯ ห่วง 5 เขื่อนใหญ่น้ำน้อย

ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบปัญหานํ้าท่วมเกือบทุกจังหวัดของประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2554 เกิดมหาอุทกภัยสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท ขณะข้อมูลกรมพัฒนาที่ดิน ปี พ.ศ. 2561 มีพื้นที่นํ้าท่วมขังซํ้าซากประเทศ ในระดับปานกลาง คือ 4-7 ครั้งในรอบ 10 ปี และระดับสูง คือ มากกว่า 8-10 ครั้งในรอบ 10 ปี รวมทั้งสิ้น 13.26 ล้านไร่

นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียม ถึงสถิติการเกิดอุทกภัยของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ข้อมูลย้อนหลังปี พ.ศ. 2548 - 2563 พบว่า พื้นที่เกิดอุทกภัยรุนแรง ได้แก่ ลุ่มนํ้ายม-น่านตอนล่าง เจ้าพระยา บางปะกง บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานีนครศรีธรรมราช และลุ่มนํ้าทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นต้น

 

แผน 3 ปีวงเงิน 6.9 แสนล้าน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการนํ้า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการนํ้าของประเทศอย่างเป็นระบบ และกำหนดเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องเร่งขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยมีการจัดทำแผน 3 ปี และโครงการสำคัญ เพื่อกำหนดเป็นวาระด้านทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ รวม 6 แผนงาน จาก 23 หน่วยงาน จำนวน 53,892 รายการ วงเงิน 623,812 ล้านบาท

ทั้งนี้มีเป้าหมายการพัฒนาตามแผน คือ “นํ้าถึงไร่นา นํ้าสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านนํ้า” เพื่อขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงด้านนํ้าให้ประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ซึ่งเป็นงานที่รัฐบาลให้ความสำคัญและขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแผนงาน 3 ปี ด้านทรัพยากรนํ้า และโครงการสำคัญของรัฐบาล เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายข้างต้น ได้มีการกำหนดแผน 3 ปี และโครงการสำคัญ เพื่อกำหนดเป็นวาระด้านทรัพยากรนํ้าแห่งชาติรวม 6 แผนงาน (โดยมีงบประมาณโครงการสำคัญ ดำเนินการหลังจาก 3 ปี เป็นวงเงิน 106,807 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 698,958 ล้านบาท) ผลสัมฤทธิ์รวมที่คาดหวัง จะมีประชาชนได้รับประโยชน์ 6.22 ล้านครัวเรือน ความจุเก็บกักเพิ่มขึ้น 4,725 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ความจุในการหน่วงนํ้า 1,942 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 24.19 ล้านไร่ มีรายละเอียดแต่ละแผนงานดังนี้

รัฐบาล \"เศรษฐา\" ปักธงแก้วิกฤตน้ำ 3 ปี 7 แสนล้าน

ชำแหละ 6 แผน 5.3 หมื่นรายการ

แผนงานที่ 1 การพัฒนานํ้าอุปโภคบริโภค จำนวน 27,233 รายการ วงเงินรวม 93,329 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 4.55 ล้านครัวเรือน ปริมาณนํ้าต้นทุนเพื่อผลิตประปาเพิ่มขึ้น 165 ล้าน ลบ.ม.

แผนงานที่ 2 การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งนํ้าเดิม และพัฒนาระบบกระจายนํ้า จำนวน 11,750 รายการ วงเงิน 192,524 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม พื้นที่รับประโยชน์ 9.75 ล้านไร่ ปริมาณนํ้าเก็บกักเพิ่มขึ้น 2,147.70 ล้าน ลบ.ม.

แผนงานที่ 3 การพัฒนาพื้นที่เกษตรนํ้าฝน จำนวน 8,426 รายการ วงเงิน 97,537 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม พื้นที่รับประโยชน์ 2.60 ล้านไร่ ปริมาณนํ้าเก็บกักเพิ่มขึ้น 1,008 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรได้รับประโยชน์ 0.13 ล้านครัวเรือน

 

แผนงานที่ 4 การพัฒนาพื้นที่หน่วงนํ้าและการป้องกันนํ้าท่วมชุมชนเมือง จำนวน 483 รายการ วงเงิน 21,379 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม พื้นที่รับประโยชน์ 0.68 ล้านไร่ พื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 0.50 ล้านไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 0.34 ล้านครัวเรือน ความจุในการหน่วงนํ้าเพิ่มขึ้น 1,942.35 ล้าน ลบ.ม.

แผนงานที่ 5 การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรนํ้า จำนวน 5,938 รายการ วงเงิน 20,615 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม พื้นที่ได้รับการฟื้นฟู 3.45 ล้านไร่ พื้นที่ลดการชะล้างพังทลาย 3.37 ล้านไร่ ครัวเรือนรับ ประโยชน์ 0.26 ล้านครัวเรือน ปริมาณนํ้าเพิ่มขึ้น 166 ล้าน ลบ.ม.

แผนงานที่ 6 แผนงานตามโครงการสำคัญ 62 รายการวงเงิน 198,248 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม พื้นที่รับประโยชน์ 4.34 ล้านไร่ พื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 0.40 ล้านไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 0.94 ล้านครัวเรือน ปริมาณนํ้าเก็บกักเพิ่มขึ้น 1,239 ล้าน ลบ.ม.

 

แผนนํ้าอีอีซีกว่า 5 หมื่นล.

ส่วนโครงการสำคัญต่อเนื่องดำเนินการหลังจาก 3 ปี วงเงิน 106,807 ล้านบาท ภายใต้แผนงานด้านที่ 1 การเพิ่มปริมาณนํ้าต้นทุน 37 โครงการ โดยกรมชลประทาน กรมทรัพยากรนํ้า เช่น โครงการสำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ,โครงการอ่างเก็บนํ้านํ้ากิ จ.น่าน โครงการผันนํ้าเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ฯลฯ

2.โครงการภายใต้แผนงานด้านที่ 2 การบรรเทาปัญหาอุทกภัย 24 โครงการ โดยกรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพมหานคร เช่น โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ,โครงการระบบระบายนํ้าและระบบป้องกันนํ้าท่วมพื้นที่ชุมชนพิชัย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง, โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยายจากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสี่ ฯลฯ และ โครงการภายใต้แผนงานด้านที่ 3 การแก้ไขปัญหาคุณภาพนํ้า 1 โครงการ โดยกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมนํ้าเสียและระบบบำบัดนํ้าเสียมีนบุรี ระยะที่ 2

นอกจากนี้มีรายการปรับปรุงแหล่งนํ้าของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเดิม และโครงการอัน เนื่องมาจากพระราชดำริที่หน่วยงานขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว รวม 526 รายการ วงเงิน 13,322 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม พื้นที่รับประโยชน์ 0.52 ล้านไร่ ปริมาณนํ้าเก็บกักเพิ่มขึ้น 112 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนรับประโยชน์ 86,320 ครัวเรือน

รัฐบาล \"เศรษฐา\" ปักธงแก้วิกฤตน้ำ 3 ปี 7 แสนล้าน

แยกเป็นแผนงานดังนี้ แผนงานที่ 1 การพัฒนานํ้าอุปโภคบริโภค (จำนวน 279 รายการ วงเงิน 3,218 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม ครัวเรือนรับประโยชน์ 73,026 ครัวเรือน ปริมาณนํ้าต้นทุนเพื่อผลิตประปา 1.41 ล้าน ลบ.ม.) แผนงานที่ 2 การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งนํ้าเดิม และพัฒนาระบบกระจายนํ้า (จำนวน 175 รายการ วงเงิน 3,357.5106 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม พื้นที่รับประโยชน์ 0.33 ล้านไร่ ปริมาณนํ้าเก็บกักเพิ่มขึ้น 10.39 ล้าน ลบ.ม.)

แผนงานที่ 3 การพัฒนาพื้นที่เกษตรนํ้าฝน (จำนวน 36 รายการ วงเงิน 2,614 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม พื้นที่รับประโยชน์ 33,570 ไร่ ปริมาณนํ้าเก็บกักเพิ่มขึ้น 13 ล้าน ลบ.ม.) แผนงานที่ 5 การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรนํ้า (จำนวน 32 รายการ วงเงิน 962 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม พื้นที่ได้รับการฟื้นฟู 0.10 ล้านไร่) และแผนงานที่ 6 โครงการสำคัญ (จำนวน 4 รายการ วงเงิน 3,170 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม พื้นที่รับประโยชน์ 55,592 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 13,133 ครัวเรือน ปริมาณนํ้าเก็บกักเพิ่มขึ้น 86.70 ล้าน ลบ.ม.

 “จากที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สทนช. ร่วมกับ 23 หน่วยงานเร่งดำเนินการแก้ปัญหา เพื่อสร้างความมั่นคงด้านนํ้าของประเทศในทุกมิติอย่างยั่งยืนคาดว่าจะส่งแผนนํ้านำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติภายในเดือนสิงหาคมนี้ “นายสุรสีห์ กล่าว

 

รัฐบาล \"เศรษฐา\" ปักธงแก้วิกฤตน้ำ 3 ปี 7 แสนล้าน

“เศรษฐา”เร่งให้นำเสนอ ครม.

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมหารือการบริการจัดการนํ้า โดยนายเศรษฐาระบุว่า ปัญหาเรื่องนํ้าเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทยที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหานํ้าท่วม นํ้าแล้ง คุณภาพนํ้าดื่ม และนํ้าใช้อุปโภคบริโภค จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานเรื่องนํ้าเร่งทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานด้านนํ้าระยะ 3 ปี

ทั้งนี้ได้สั่งการให้ สทนช.เร่งจัดทำแผนงานด้านนํ้าและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาภายในเดือนสิงหาคมนี้ และได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการนํ้า โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ GISTDA ประเมินภาพถ่ายในพื้นที่นํ้าท่วมซํ้าซากร่วมกับกรมชลประทาน นอกจากนี้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สทนช.ร่วมกันติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ และบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และแจ้งเตือนประชาชนเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

 

5 เขื่อนใหญ่นํ้ากักเก็บน้อย

ด้านกรมชลประทาน รายงาน สภาพนํ้าในอ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่และขนาดกลาง ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2567 (เหลือเวลาอีก 80 วัน สิ้นสุดฤดูฝน) มีปริมาตรนํ้าในอ่างฯรวม 44,338 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุ (ปริมาตรนํ้าใช้การได้ 20,395 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39) ปริมาตรนํ้าในอ่างฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 (มี ปริมาตร 41,427 ล้าน ลบม.คิดเป็นร้อยละ 54) หรือมากกว่าจำนวน 2,911 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณนํ้าไหลลงอ่าง 241.56 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณนํ้าระบาย 167.78 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับนํ้าได้อีก 31,999 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับ 5 เขื่อนที่มีปริมาณนํ้าน้อยในเวลานี้ ได้แก่ 1.เขื่อนภูมิพล มีปริมาณนํ้าเก็บกักร้อยละ 42 โดยมีนํ้าใช้การเพียงร้อยละ 15 2.เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณนํ้าเก็บกักร้อยละ 56 เป็นนํ้าใช้การเพียงร้อยละ 26 3. เขื่อนแม่มอก มีปริมาณนํ้าเก็บกักร้อยละ 31 โดยเป็นนํ้าใช้การเพียงร้อยละ 16 4.เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณนํ้าใช้การเพียง ร้อยละ 19 และ 5.เขื่อนกระเสียว มีปริมาณนํ้าใช้การเพียงร้อยละ 12% และเขื่อนบางลาง มีนํ้าใช้การเพียงร้อยละ 29

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,018 วันที่ 15-17 สิงหาคม พ.ศ. 2567