10 อันดับประเทศ "หนี้ครัวเรือนสูง" สูงที่สุดในโลก ไทยติดโผหนักสุดรอบ 16 ปี

11 ก.ย. 2567 | 05:48 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2567 | 06:52 น.

เปิด 10 ประเทศที่มี "หนี้ครัวเรือน" สูงสุดในโลก ล่าสุด โดยประเทศไทยติดโผเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงแห่งเดียวในกลุ่ม สศช. เตือนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลสำรวจปัจจุบันคนไทยมีหนี้เฉลี่ย 606,378 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% เพิ่มขึ้น 47,000 บาท เมื่อเทียบจากปี 2566 ถือว่าสูงสุดในรอบ 16 ปี และสูงสุดเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็น 90.4 - 90.8% ของ GDP ประเทศ

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงที่สุดในโลก 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา (ข้อมูลจาก-Trading Economics, 2023)

10 อันดับประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในปี 2566

  • สวิตเซอร์แลนด์ มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 128%
  • ออสเตรเลีย มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 111%
  • แคนาดา มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 103%
  • เกาหลีใต้ มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 102%
  • ฮ่องกง มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 96%
  • นิวซีแลนด์ มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 93%
  • เนเธอร์แลนด์ มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 91%
  • ไทย มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 91%
  • สวีเดน มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 85%
  • เดนมาร์ก มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 84%

10 อันดับประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนน้อยที่สุดในโลกในปี 2566

  • อาร์เจนตินา มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 4%
  • ตุรเคีย มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 11.8%
  • ซาอุดิอาระเบีย มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 16%
  • เม็กซิโก มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 16.2%
  • ฮังการี มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 17.6%
  • รัสเซีย มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 21.8%
  • ลิธัวเนีย มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 21.91%
  • โปแลนด์ มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 24.4%
  • ไอร์แลนด์ มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 25.4%
  • โคลัมเบีย มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 27.72%

สศช.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุ “ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง” ในรายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 ระบุว่า “ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงและมาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2567 อยู่ที่ 90.8% ทรงตัวจาก 90.7% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ยังคงสูงกว่า 82.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาคธุรกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans: NPLs) และสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นพิเศษ (Special Mention Loans: SMLs) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2567 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.5% และ 12% และสูงกว่า 4.7% และ 3.1% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ภายใต้คุณภาพสินเชื่อที่ลดลงส่งผลให้สถาบันการเงิน เพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อกับธุรกิจมากขึ้น อาทิ การเพิ่มเงื่อนไขประกอบสัญญาเงินกู้ การเพิ่มหลักทรัพย์ค่ำประกัน เมื่อรวมกับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้การขยายตัวของสินเชื่อชะลอตัวลง โดยมูลค่าสินเชื่อภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ขยายตัว 1% ชะลอลงจาก 1.46% ในไตรมาสก่อนหน้า

โดยเฉพาะอย่างสินเชื่อครัวเรือนที่ขยายตัว 1.15% ลดลงจาก 1.99% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

รวมทั้งก่อให้เกิดความเสี่ยง ที่จะทำให้ผู้ประกอบการและครัวเรือนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้จำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบธนาคารเพื่อช่วยเหลือ ด้านสภาพคล่อง