นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตร ได้รับนโยบายจาก ศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร โดยนำนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอย่างสมดุลตามเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ โดยเน้นย้ำการเพิ่มความยั่งยืนด้าน Food Security ทั้งอาหาร และอาหารสัตว์ มุ่งสู่เป้าหมาย Food Security Goal 2030
เพื่อเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เป็นไปตามนโยบายของ รมว.เกษตร จึงมีการจัดประชุม “คณะทำงานภาครัฐและเอกชนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชแห่งชาติิโดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน”สำหรับพิจารณาร่างแผนพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์พืชเขตร้อนของโลก (Tropical Seed Hub)โดยมีผู้บริหาร หรือผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อาทิ กรมวิชาการเกษตร, กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมส่งเสริมสหกรณ์,สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร,สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย, สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย, สมาคมเมล็ดพันธุ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย, สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าไทย, กรมการค้าภายใน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เข้าร่วมประชุม
สาระสำคัญในการประชุมคือ การร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์พืชเขตร้อนของโลก (Tropical Seed Hub)ครอบคลุมการผลิต การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชและส่วนขยายพันธุ์พืชที่มีคุณภาพดี การให้บริการทางเทคโนโลยีนวัตกรรมทางเมล็ดพันธุ์ การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ การปรับปรุงพันธุ์พืช
โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ การจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางเชื้อพันธุกรรมพืชที่สามารถแลกเปลี่ยนและเข้าถึง ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย กฎ ระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับปรุงพันธุ์พืช การผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี และการค้าระหว่างประเทศ การนำเข้า ส่งออก และนำผ่านเมล็ดพันธุ์ควบคุม และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านปรับปรุงพันธุ์พืชและเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์พืชสมัยใหม่เพื่อเตรียมแนวทางการดำเนินงาน โครงการ งบประมาณและแหล่งงบประมาณ โดยมีกลไกการขับเคลื่อนทั้งหมด 6 กลยุทธ์ ดังนี้
กลยุทธ์ 1 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ เพิ่มฐานพันธุกรรมพืช โดยการนำเข้าเชื้อพันธุกรรมจากต่างประเทศ ภายใต้หลัก “ตลาดนำ การวิจัย”
กลยุทธ์ 2 ส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม นำร่องแปลงสาธิตการผลิตพืชจีโนม ควบคู่กับ การจัดการเกษตรอัจฉริยะ การใช้ชีวภัณฑ์เพื่อลดการใช้สารเคมี การใช้โดรนทางการเกษตร รวมถึงการผลิตพืชเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
กลยุทธ์ 3 จัดทำฐานข้อมูลเชื้อพันธุกรรมพืชโดยกรมวิชาการเกษตรเชิญชวนผู้ประกอบการทั้งไทย และต่างประเทศ โดยนำข้อมูลทางพันธุกรรมพืชที่มี เพื่อเข้าสู่ฐานข้อมูลเชื้อพันธุกรรมพืชกลางของประเทศ
กลยุทธ์ 4 อำนวยความสะดวกการนำเข้า ส่งออก ส่งต่อ และการค้าเมล็ดพันธุ์ ให้เชื่อมโยงกับระบบอื่นที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการนำเข้า และส่งออกเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ
กลยุทธ์ 5 เพิ่มศักยภาพด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช สร้างขีดความสามารถในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชคุณภาพ เข้าสู่มาตรฐานสากล
กลยุทธ์ 6 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านทรัพยากรบุคคลตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ พัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
ปัจจุบันเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ (New Breeding Technology -NBT) ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) ที่มีความปลอดภัยสูง และไม่เป็นพืช GMOs ไม่มีการตัดต่อ DNA จากสิ่งมีชีวิตอื่นเข้ามาในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งในผลิตภัณฑ์สุดท้ายไม่มี DNA แปลกปลอมจากสิ่งมีชีวิตอื่น จึงมีศักยภาพที่เหมาะสมสำหรับการปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิต เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร สามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างปลอดภัย และจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างเหมาะสม
อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพส่งเสริมการแข่งขันของภาคการเกษตร เพื่อรองรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการระบาดของโรค แมลง ศัตรูพืชอุบัติใหม่ ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ให้การยอมรับและสนับสนุนเทคโนโลยี รวมถึงประเทศต่างๆ ให้การยอมรับและสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูงนี้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าว จึงออกประกาศ เรื่อง การรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 และกรมวิชาการเกษตรออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567
กรมวิชาการเกษตรยังเร่งพัฒนาบุคลากร และห้องปฏิบัติการ รองรับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีในภาคการเกษตร พัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนของโลก โดยกรมวิชาการเกษตร ได้มอบใบประกาศรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการภาคเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชนมุ่งเป้าเป็น Tropical seed hub
โดยยกระดับ Phytosanitary Certificate ของไทยเข้าสู่ระบบดิจิตัล เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าเมล็ดพันธุ์ และการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบศัตรูพืชของไทย ที่มีความชัดเจน รวดเร็ว ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะในภาวะที่มีการแข่งขันทางการค้าสูง ส่งเสริม และสนับสนุนการของบประมาณจากแหล่งทุน สกสว. สวก. และเครือข่ายต่างๆ ผลักดันงบประมาณโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ และได้ประสานความร่วมมือกับ Agriculture and Food System Institute และหน่วยงานในประเทศไทย
เพื่อพัฒนาแนวทางการใช้ CHATBot AI และสร้างการรับรู้ให้กับภาคส่วนต่างๆ ผ่านช่องทางการสัมมนา ให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ประชาชนทั่วไป รวมถึงเกษตรกรให้เข้าใจถึงเทคโนโลยี GEdที่ถูกต้อง นำไปสู่การขับเคลื่อนใช้ประโยชน์ และสร้างความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตัวเองของประเทศไทย ตอบโจทย์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)นำไปสู่การลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก สอดรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) ของประเทศ สู่ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารของโลก อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้าย