จังหวัดสมุทรสงคราม และประมงสมุทรสงคราม ระดมความร่วมมือทุกภาคส่วนภาครัฐ เอกชน ชุมชน และชาวประมงในพื้นที่ ในการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ตามแผนปฏิบัติการของกรมประมงอย่างจริงจังและเป็นระบบ
โดยบูรณาการองค์ความรู้ และนวัตกรรมที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมและพื้นที่เพื่อ ควบคุมและลดจำนวนปลาหมอคางดำ พร้อมเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาสช่วยสร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และฟื้นฟูระบบนิเวศ และคืนความหลากหลายทางชีวภาพสู่ธรรมชาติและชุมชน
ล่าสุด จังหวัดสมุทรสงครามผนึกพลังกับประมงจังหวัด นำโดย นายกรกฎ วงษ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นายรนัสถ์ชัย พุ่มเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และ นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม
พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น ร่วมกับคณะขับเคลื่อนนโยบายของกรมประมง(FC) เรือนจำกลางสมุทรสงคราม และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) จัด กิจกรรมลงแขกลงคลอง เพื่อขับเคลื่อนการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ ครั้งที่ 1/2568 ในบริเวณบ่อพักน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรสงคราม และบริเวณบ่อพักน้ำข้างศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม
ทั้ง 2 พื้นที่ สามารถจับสัตว์น้ำรวมทั้งสิ้น 263 กิโลกรัม แบ่งเป็นปลาหมอคางดำ 63 กิโลกรัม และปลาพื้นถิ่น จำนวน 200 กิโลกรัม และได้ดำเนินการส่งมอบปลาหมอคางดำให้กับเรือนจำกลางสมุทรสงคราม เพื่อนำไปหมักทำเป็นน้ำปลาต่อไป
นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า กิจกรรมการจับปลาหมอคางดำในบ่อพักน้ำทั้งสองแห่งครั้งนี้ เป็นการติดตามสำรวจปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำที่เคยจัดกิจกรรมจับปลาหมอคางดำแล้วหลายครั้ง
ปัจจุบัน จากการจัดกิจกรรมจับปลาออกจากแหล่งน้ำและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2567 ส่งผลให้ปริมาณปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่เบาบางลง ปลาที่จับได้มีขนาดเล็กลง หมายถึงว่าปลาพ่อแม่พันธุ์ลดลง และผลจากการปล่อยลูกปลากะพงขาวเป็นปลานักล่าในพื้นที่ต่างๆ พบปลาหมอคางดำตัวขนาดเล็กน้อยลง
อย่างไรก็ตาม จังหวัดยังให้ความสำคัญกับการจัดการปลาหมอคางดำในพื้นที่อย่างเป็นระบบ นอกจากการจัดกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จังหวัดสมุทรสงครามริเริ่มเป็นแห่งแรกแล้ว ประมงสมุทรสงครามยังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ทำเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางที่จูงใจให้เกิดการจับปลาชนิดนี้ออกจากแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมาประมงสมุทรสงคราม ร่วมมือกับเรือนจำกลาง และซีพีเอฟ นำปลาหมอคางดำที่จับได้นำไปผลิตน้ำปลาเป็นสินค้ากรมราชทัณฑ์ ภายใต้ ชื่อ น้ำปลาปลาหมอคางดำตรา “หับเผย แม่กลอง”
นอกจากนี้ เรือนจำกลางสมุทรสงครามยังนำปลาไปปรุงเป็นอาหารให้กับเจ้าหน้าที่ และผู้ต้องขัง สำหรับปลาตัวเล็กๆ นำไปเป็นเหยื่อเลี้ยงเป็ดและปลา
นอกจากนี้ ยังขยายผลสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร 2 แห่งนำปลาหมอคางดำหมักเป็นปลาร้า ซึ่งเกษตรกรได้ปรับมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ปลาส้ม และ ปลาร้าสับ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการผลิตเพื่อจำหน่ายสั้นกว่าปลาร้าทำให้เกษตรกรได้รายได้รวดเร็วขึ้น
เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรวิถีใหม่ร่วมใจพัฒนา บ้านคลองตาจ่า ได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลาร้าจากปลาหมอคางดำ เช่น ปลาส้ม ปลาร้าข้าวคั่ว แจ่วบอง น้ำพริกเผาปลาร้า
นายบัณฑิต กล่าวต่อว่า แนวทางการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง และจำเป็นต้องรับความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และชาวประมง รวมถึงประชาชนที่ช่วยกันนำปลาไปใช้ประโยชน์ แปรเปลี่ยนจากปลาที่เป็นตัวปัญหาสู่ปลาเศรษฐกิจ และหนุนความมั่นคงทางอาหารอีกทางหนึ่ง