นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” แถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลรอบ 90 วัน ทั้งนี้ในมุมผู้นำภาคธุรกิจเอกชนมีมุมมองที่หลากหลายต่อผลงานรัฐบาล รวมถึงมีข้อเสนอแนะสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในปี 2568 ที่จะมาถึงอย่างไรนั้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลงานรอบ 90 วันของรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีหลายเรื่องที่ได้ทำสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยด้านการท่องเที่ยว และซอฟต์พาวเวอร์ ขอชื่นชมรัฐบาลที่พยายามผลักดันหลายมาตรการเพื่อทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยกลับมาเติบโตได้โดดเด่น ตั้งแต่การยกเลิกวีซ่าเข้าไทยกับหลายสิบประเทศทั่วโลก การปรับขั้นตอนและอำนวยความสะดวกคนเข้าเมือง โดยเฉพาะในสนามบินสุวรรณภูมิให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกันภายในประเทศก็มีการเร่งโปรโมทนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งด้านอาหาร การจัดบิ๊กอีเว้นท์และเฟสติวัล เทศกาลสำคัญ ๆ ของประเทศ สิ่งเหล่าทำให้มีผลต่อความเชื่อมั่น กระตุ้นให้เกิดภาพลักษณ์ที่ทำให้วันนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วกว่า 32 ล้านคน (ข้อมูล 1 ม.ค.-8 ธ.ค. 2567) ในส่วนนี้หากมีการวางแผนและเพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากขึ้น เชื่อว่าปีหน้าอาจทำให้เราได้เห็นนักท่องเที่ยวกลับมาแตะ 40 ล้านคนได้
การดึงดูดการลงทุน รัฐบาลมีความพยายามในการดึงบิ๊กคอร์ป ยักษ์ใหญ่ของโลกในด้านเทคโนโลยี เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการ Data Center, Cloud Service, อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน EV, การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีตัวเลขการเข้ามาลงทุน เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าหลายโครงการสำคัญยังขาดความชัดเจนในเรื่องเม็ดเงินการลงทุน ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก บางบริษัทมีการประกาศตัวเลขการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน
อีกส่วนคือความพยายามในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจ ที่เป็นเหมือนตัวฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในวันนี้ แม้ว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ และตัวเลขหนี้สาธารณะยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร แต่ก็เห็นถึงความพยายามของรัฐบาล โดยเฉพาะการรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน นำมาสู่การแก้หนี้ครัวเรือน โดยเน้นที่หนี้รถยนต์ และบ้าน ซึ่งหอการค้าฯ เชื่อว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน สร้างโอกาส และลดความเลื่อมล้ำได้มาก
“ในภาพรวมหอการค้าฯ ให้รัฐบาลสอบผ่าน โดยเฉพาะในประเด็นความพยายามและความตั้งใจ ในการผลักดันนโยบายใหม่ ๆ ภายใต้ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ และปัญหาความตึงเครียดของการเมืองและสงครามระหว่างประเทศ”
สำหรับสิ่งที่หอการค้าฯอยากฝากให้กับรัฐบาลได้พิจารณาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าคือการเร่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความชัดเจน มาตรการส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยว ในจังหวัดที่มีศักยภาพ หรือจังหวัดที่เป็นเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้ และความเจริญให้ทั่วถึง ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันโจทย์ใหญ่อย่างการแก้ไขปัญหาหนี้ก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และพิจารณามาตรการเฉพาะในหนี้แต่ละประเภท ซึ่งส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล สถาบันการเงิน หน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลงานรัฐบาล 90 วันที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อน ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การดึงการลงทุนจากต่างประเทศในกลุ่ม Data Center, Cloud Service, PCB, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้านการท่องเที่ยวที่คาดในปีนี้ตัวเลขทั้งปีคาดจะดึงต่างชาติเที่ยวไทยได้ 36-37 ล้านคน และปีหน้าอาจจะแตะ 40 ล้านคน ซึ่งจะเป็นตัวเลขระดับใกล้เคียงกับปีก่อนเกิดโควิด การส่งออกที่คาดทั้งปีนี้อาจขยายตัวได้ถึง 4% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี
นอกจากนี้คือ การผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ล่าสุดไทยได้บรรลุสรุปผลการเจรจากับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป(EFTA) และอยู่ระหว่างเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป(EU) การผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้ ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้เอสเอ็มอี ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนแก้หนี้ในโครงการนี้จะได้รับอานิสงส์ และมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น
“ในส่วนผลงานตรงนี้ผมให้ผ่าน แต่ยังมีส่วนที่ต้องรีบเร่งแก้ไขต่อเนื่อง คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ การช่วยลดต้นทุนต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการ และประชาชน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าพลังงานต่าง ๆ โดยขอให้เร่งมีการจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อให้ภาคเอกชนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียและใช้ไฟฟ้ามาก ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับโครงสร้างพลังงานเพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้คือการอำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบ กฎหมายให้ประกอบธุรกิจได้คล่องตัวและง่ายขึ้น(Ease of Doing Business) โดยยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่กว่าแสนฉบับในส่วนที่มีความล้าสมัย รวมถึงการตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้าราคาถูก ด้อยคุณภาพ หรือสำแดงเท็จมาทำลายผู้ประกอบการในประเทศ”
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ผลงานรัฐบาลแพทองธาร 90 วัน มองว่าผ่าน แต่ไม่อยากตีเป็นคะแนน เนื่องจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น เป็นอานิสงส์จากนโยบายในยุคนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะนโยบายเรื่องของวีซ่าฟรี ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น ส่วนแผนในปีหน้าอยากให้นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการต่อมาตรการวีซ่าฟรีกับประเทศต่าง ๆ ออกไปอีก จากที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งอยากให้มีการประกาศแต่เนิ่นๆ เพื่อนักท่องเที่ยวจะได้วางแผนเดินทางล่วงหน้า
รวมถึงอยากให้กระตุ้นการเดินทางเที่ยวในประเทศมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี และอยากให้นำนโยบายเราเที่ยวด้วยกัน กลับมาใช้ ซึ่งหากรัฐบาลเห็นด้วยในเรื่องนี้ ก็ควรจะประกาศแต่เนิ่น ๆ เช่นกัน ซึ่งนโยบายนี้จะมาช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซันได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการสนับสนุนภาคเอกชน อย่างโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเรื่องความยั่งยืน โดยสนับสนุนให้สถาบันการเงินออกแพ็กเกจซอฟต์โลน เพื่อปล่อยกู้ให้โรงแรม หรือธุรกิจ นำเงินมาพัฒนาสถานประกอบการ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน เนื่องจากภายในปี 2569 มีกฎจาก Global Sustainable Tourism Council หรือ GSTC ที่จะแบนแหล่งท่องเที่ยวหรือโรงแรมที่ไม่ได้ทำเรื่องความยั่งยืน เช่น การขายโรงแรมในแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลก ก็จะเห็นเฉพาะโรงแรมที่ได้รับใบรับรองเรื่องความยั่งยืน เป็นต้น โดยจะเริ่มเห็นในยุโรปก่อน จากนั้นมาตรการเหล่านี้ก็คงกระจายไปในภูมิภาคต่าง ๆ
อีกทั้งปัญหาสำคัญในขณะนี้ คือ การออกใบรับรองการดำเนินการของโรงแรมด้านความยั่งยืน หรือ Hotel Plus ที่ในขณะนี้กรมลดโลกร้อน เป็นเจ้าภาพในการออกใบรับรอง แต่ก็พบปัญหาว่ามีศักยภาพในการตรวจรับรองได้เพียงปีละ 60 โรงแรมเท่านั้น ขณะที่โรงแรมในไทยมีหลายหมื่นโรงแรม จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
นายสุนัย วชิรวราการ นายกสมาคมสปาไทย กล่าวว่า การประเมินผลงานนายกฯและรัฐบาลชุดปัจจุบันตอบได้ยาก โดยความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าเวลา 90-100 วัน เป็นเพียงระยะสั้น ยังไม่เห็นภาพเป็นรูปธรรมมากนัก นโยบายหลายอย่างยังไม่มีความชัดเจนหรือเกิดผลในเชิงประจักษ์ อาจต้องให้เวลาอีกสักพัก แต่สิ่งที่เห็นคือหลายหน่วยงานของรัฐบาลมีความกระตือรือร้นในการทำงาน พยายามคิกออฟเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ทั้งจัดประชุมระดมความคิด ดึงภาคเอกชนเข้าไปหารือร่วมกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือผู้ประกอบการธุรกิจเวลเนสและสปา
โดยรัฐบาลพยายามผลักดันการจัดงาน Global Wellness Summit(GWS) สนับสนุนประเทศไทยให้เป็นเจ้าภาพในปี 2569 ฉะนั้น เวลเนสและสปา จึงถือว่าอยู่ในความสนใจของรัฐบาล เป็นภาคธุรกิจที่ได้รับความนิยมและอยู่ในกระแส แม้มีข่าวด้านลบออกมาก็ส่งผลกระทบไม่มาก เพราะเวลเนสและสปาของไทยค่อนข้างมีมาตรฐาน มีความเข้มงวดในการตรวจสอบ
“สำหรับสถานการณ์ของธุรกิจเวลเนสและสปาในประเทศไทยตอนนี้ หากดูจากตัวเลขนักท่องเที่ยว หรือสถิติคร่าวๆ ของปี 2567 อาจพูดได้ว่าเริ่มฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว หากสิ่งที่ผู้ประกอบการคิดวางแผนหรือเสนอไว้ร่วมกับรัฐบาลรวมถึงนโยบายต่างๆ ในปี 2568 ถูกผลักดันอย่างจริงจัง น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น เรื่องระบบประกันสังคม สิทธิพิเศษต่าง ๆ คิดว่าคงส่งผลในเชิงบวก”
นายศักดา ศรีแสงนาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจริญอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ CH ผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้และอาหารแปรรูป กล่าวว่า 90 วันของรัฐบาล ยังเป็นช่วงต้นของการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จึงยังไม่มีผลงานโดดเด่นที่สามารถแสดงถึงทิศทางหรือเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาประเทศในระยะยาว ประกอบกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน อาทิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาจจะทำให้ในช่วงแรกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลต้องเร่งดูแลในส่วนนี้แทนการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม
“หากจะให้คะแนนในตอนนี้ อาจอยู่ที่ประมาณ 50 คะแนน โดยหวังว่าจะได้เห็นการพัฒนาที่ชัดเจนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ส่วนในปี 2568 รัฐบาลควรมุ่งเน้นการทำงานโดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และ ปากท้องของประชาชน เน้นที่การสร้างงาน และโอกาสในการทำงานให้มากขึ้น แทนการพึ่งพานโยบายแจกเงิน”
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอ กลุ่มบริษัท efrastructure Group กล่าวว่า ผลงานรัฐบาล 3 เดือนที่ผ่านมาที่เริ่มเห็นคือ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และมาตรการแก้ไขปัญหาสินค้าจีน ที่มีการบรูณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหา ส่วนปี 2568 มองว่ารัฐบาลควรแบ่งแผนการพัฒนาประเทศเป็น 3 ระยะ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยเน้นไปที่แผนระยะกลางและยาว ที่ต้องเร่งสร้าง New S-Curve ดึงบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาลงทุนเศรษฐกิจใหม่ บริษัทใหญ่ของไทยต้องเข้ามาลงทุนนิวอีโคโนมี วันนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าไทยมีธุรกิจใหม่ ๆ อะไรเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่รัฐบาลต้องมีนโยบายเร่งสร้างคน ที่มีทักษะดิจิทัล เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจดั้งเดิม
ด้านนางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ RICHY กล่าวว่า ผลงานรัฐบาลที่เห็นเด่นชัด คือ การแจกเงิน 10,000 บาท ตามนโยบายหาเสียง ซึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มาก ทางออกรัฐบาลต้องทำให้ประชาชน มีงานทำ เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ ใส่เงินให้เกิดการจ้างงาน ทั้งประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอี และเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลปีหน้าที่สนับสนุนให้แต่ละชุมชนมีงานทำ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มองว่า ภาพรวมยังไม่ค่อยได้ผลเต็มที่นักเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ